ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่องค่ากลั่น
21 มิ.ย. 2565

กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ส่งข้อมูลถึงผู้สื่อข่าวสายพลังงาน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่ นายกรณ์ จาติกวณิช ได้นำเสนอประเด็น “คนไทยโดนปล้น ค่ากลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า” ผ่านสื่อมวลชนหลายสำนัก มาตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2565 กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 
กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้ 
ประเด็นที่ 1  ข้อมูลที่คุณกรณ์นำเสนอเป็นการเลือกข้อมูลบางส่วนขึ้นมา เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด โดยค่าการกลั่นที่คุณกรณ์ยกมานั้น  ไม่ใช่ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับ (Market GRM) และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ  นอกจากนี้ ข้อมูลที่เลือกมาเป็นฐานในการเปรียบเทียบ เป็นข้อมูลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 (2563-2564) ซึ่งค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากๆ  เมื่อนำมาเปรียบเทียบ จะทำให้เข้าใจผิดว่าค่าการกลั่นในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติ  หากนำข้อมูลค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับจริง ในช่วงสถานการณ์ก่อนโควิด-19 ในปี 2561-2562 มาเปรียบเทียบ พบว่า ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 สูงขึ้นเพียงประมาณ 0.47 บาทต่อลิตร จากช่วงสถานการณ์ปกติเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สูงถึง 10 เท่าและสูงถึง 8 บาทต่อลิตร อย่างที่กล่าวอ้าง
ประเด็นที่ 2  ต้นทุนการกลั่นไม่ได้คงที่ แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าพรีเมียม ของน้ำมันดิบ (ราคาส่วนเพิ่มของน้ำมันดิบที่กลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง) ค่าขนส่งน้ำมัน ค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เป็นต้น รวมถึงค่าแรงที่มีการปรับขึ้นอย่างเป็นประจำ และการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงชนิดและมาตรฐานคุณภาพของน้ำมัน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการปฏิบัติการในโรงกลั่น ความปลอดภัย เป็นต้น
ประเด็นที่ 3  โรงกลั่นไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจากค่าการกลั่นเป็นผลลัพธ์จากราคาเฉลี่ยของน้ำมันที่ขายจริงทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิต หักด้วยราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง ซึ่งรวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เช่น ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย  รวมถึงต้องหักค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เช่น ค่าความร้อน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสูญเสีย เป็นต้น โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวมถึงสต๊อกน้ำมัน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ
ด้าน นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เขียนบทความเรื่อง “ค่าการกลั่นน้ำมัน! จะให้ถูกใจ หรือถูกต้องดี? เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย 2565 ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญว่า โรงกลั่นน้ำมันในไทยทั้ง 6 โรงอันได้แก่ Thai Oil, GC, BCP, IRPC, Esso และ SPRC กำลังถูกกล่าวหาจากคนที่เคยเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าเอาเปรียบผู้บริโภคจากการได้ ค่าการกลั่นที่สูงเกินปกติ จนเกิดเป็นกระแสให้รัฐเข้ามาจัดการควบคุมเพดานค่าการกลั่น GRM พร้อมทั้งมีข่าวว่ารัฐจะขอความร่วมมือให้โรงกลั่น “บริจาค” เงินก้อนมาให้รัฐเพื่อนำไปใช้พยุงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป
โดยนายคุรุจิตแนะให้รัฐไตร่ตรองให้รอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบทั้งในระยะยาวและระยะสั้นต่อระบบเศรษฐกิจของไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ก่อนที่จะออกมาตรการใด ๆ ออกมา รวมทั้งควรมองไปถึงตอนจบด้วยว่า มาตรการที่จะนำมาใช้จะยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมจริงหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการแก้แบบเสี่ยงโชคยื้อเวลา หรือแก้ปัญหาหนึ่งแต่ไปก่อให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งให้คนรุ่นหลังหรือรัฐบาลข้างหน้ารับไปแก้กันเอาเอง
โดยนายคุรุจิต เขียนยกตัวอย่างให้เห็นภาพโดยเปรียบโรงกลั่นเหมือนโรงสีข้าว ที่รับซื้อข้าวเปลือกมาสี สีแล้วได้ผลิตภัณฑ์ต่างชนิดที่ขายได้ในราคาต่างกัน เช่น แกลบ รำข้าว ปลายข้าว ข้าวหัก มิใช่มีแต่ข้าวสาร 5% หรือมีแต่ข้าวหอมมะลิอย่างเดียว ดังนั้น ค่าการกลั่น จึงเป็นเพียงหนึ่งในตัวชี้วัดว่าโรงกลั่นมีประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับโรงกลั่นอื่น ๆ ในภูมิภาคแล้วเป็นอย่างไร เพื่อพัฒนาปรับปรุงลดต้นทุน ให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นในประเทศอื่น ๆได้
ค่าการกลั่น หรือGRM จึงแสดงความสามารถของโรงกลั่นในการทำกำไรและแข่งขันในตลาดค้าส่งน้ำมันที่เป็นตลาดเสรี มิได้แปลว่า GRM มีค่าสูงแล้วจะมีกำไรดีเสมอไป
นายคุรุจิต ยังเขียนอธิบายด้วยว่า โรงกลั่นแต่ละโรงมีโครงสร้างการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ซึ่งยังไม่รวมถึงต้นทุนค่าซื้อน้ำมันดิบมากลั่นที่แต่ละโรงซื้อมาในเวลาที่ต่างกันและคุณภาพของชนิดน้ำมันดิบที่ซื้อก็อาจแตกต่างกันด้วย ค่าสำรองน้ำมันตามกฎหมาย ค่าบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากราคาขึ้นหรือลงของสต๊อกน้ำมัน cost structures จึงไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การจะไปคุมราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นแต่ละโรงแบบจะใช้ระบบ cost plus จึงไม่อาจทำได้และไม่มีประเทศใดทำกัน
นอกจากนี้ รัฐยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายในขณะนี้ที่จะไปคุมราคาขายส่งหรือขายปลีกน้ำมัน ซึ่ง หากทำไปก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นอาจทบทวนลดการสั่งน้ำมันดิบเข้ามาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ประเทศก็จะมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและก็คงไม่ต่างอะไรกับที่รัฐบาลที่ประชานิยมสุดขั้วหรือต่อต้านระบบค้าเสรีอย่างเวเนซุเอลาหรือโบลิเวียหรืออิหร่าน เคยทำมาแล้วก็ล้มเหลวนำไปสู่ภาวะขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานและบริการ ประชาชนอดอยากจากภาวะเงินเฟ้อที่ไม่อาจควบคุมได้ รัฐบาลทุกยุคสมัยที่ผ่านมาตลอดสามสิบปีได้ตัดสินใจนำกลไกตลาดและการค้าเสรีมาใช้โดยลอยตัวราคาน้ำมันในประเทศ รัฐจะเข้าไปแทรกแซงก็แต่ในขอบเขตที่จำกัดในการเรียกเก็บเงินเข้าหรือจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ เท่านั้น รัฐจึงไม่ควรย้อนกลับถอยหลังไปสู่ระบบที่จะทำให้การจัดหาและค้าน้ำมันมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
การส่งสัญญาณที่ผิดจะทำให้ภาคธุรกิจต้องทบทวนความเสี่ยง optimize products and crude runs สั่งน้ำมันดิบเข้ามากลั่นน้อยลง หรือกลั่นแต่ส่งออกมากขึ้น หรือปรับกระบวนการผลิตให้ผลิตสินค้าอื่นเช่นปิโตรเคมีมากขึ้น แทนที่จะผลิตออกมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการจัดหาในประเทศ
นอกจากนี้ นายคุรุจิต ยังระบุด้วยว่า โรงกลั่นทั้งหกโรงในประเทศไทย เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเปิดเผย
งบการเงิน งบกำไรขาดทุนจากผลประกอบการเป็นรายปีและรายไตรมาสตามกฎกติกาอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เสียภาษีทุกประเภทเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษี VAT ภาษีสรรพสามิต และภาษีที่ดิน ธุรกิจของแต่ละรายมิได้จำกัดอยู่แต่การนำเข้าหรือกลั่นอย่างเดียว กำไรของโรงกลั่นจึงไม่ใช่มาจากเฉพาะการกลั่นเท่านั้น แต่ละโรงอาจมีการลงทุนขยายงานหรือปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ไม่พร้อมกัน เช่น ลงทุนติดอุปกรณ์คุมมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน Euro 5 ตามนโยบายรัฐ เป็นต้น การจะไปขอให้แต่ละโรงจัดสรรเงินก้อนแบ่งกำไรมาให้รัฐ โดยจะใช้ตัวชี้วัด GRM เป็นตัวกำหนดแบบไม่แน่นอน (arbitrary) ผู้บริหารโรงกลั่นคงต้องคิดหนักเพราะอยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมายและพันธกรณีใดๆ และจะต้องนำไปขอรับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทด้วย ซึ่งคณะกรรมการของบริษัทฯ ก็พึงมีหน้าที่ตัดสินใจโดยชอบบนหลัก Fiduciary Duty ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต หากคณะกรรมการบริษัทมหาชนใช้ดุลพินิจโดยมิได้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ยึดถือประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้งจนเกิดความเสียหายต่อธุรกิจ ก็อาจถูกผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่หรือรายย่อยฟ้องร้องเอาได้
รวมทั้งการจะดูว่าโรงกลั่นมี กำไรหรือขาดทุนก็ต้องรอให้ครบ 12 เดือนของปีปฏิทินเสียก่อน การใช้ตัวเลข GRM เพียงแค่สองสามเดือนที่ผ่านมาแล้วสรุปว่าโรงกลั่นมีกำไรมหาศาล หากในอีกหกเดือนหลังของปี 2565 นี้ราคาน้ำมันร่วงลงมา และโรงกลั่นขาดทุนเขาจะไปเรียกร้องขอเงินคืนจากรัฐได้หรือไม่
โดยเพียงแค่มีกระแสข่าวว่ารัฐจะควบคุมราคาหรือกำหนดเพดานค่าการกลั่น หรือโรงกลั่นอาจต้องให้ความร่วมมือแบ่งกำไรให้รัฐไปพยุงราคาน้ำมัน หุ้นโรงกลั่นทั้งหกโรงในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ราคาตกยกแผง market cap ลดวูบ บรรดากองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพบำเหน็จบำนาญ หรือประกันสังคมทั้งหลาย หรือกองทุนการออมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น RMF, LTF หรือ SSFที่เคยถือหุ้นโรงกลั่นอันจัดเป็นหุ้นพื้นฐานดีบน SET100 ต่างกลายเป็นมีมูลค่าสุทธิลดลง เพราะนักลงทุนเทขาย จากความหวั่นไหวไม่เชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจเสรี อาจกระทบต่อดัชนีจัดอันดับความน่าชื่อถือ ratingsของบริษัทฯ ได้
นอกจากนี้ในระยะยาว การที่รัฐจะไปเชิญนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศมาลงทุนในโครงการ mega projects ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก็อาจจะยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติก็คงถามหาสิทธิภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนที่ไทยมีกับนานาประเทศว่าเขาจะคงได้รับความคุ้มครองจากการเวนคืน และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมอยู่หรือไม่

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...