ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ประมงเจ๋งเพาะพันธุ์ปลากระทิงไฟสำเร็จ
02 ก.ค. 2565

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปลากระทิงไฟ เป็นปลาน้ำจืดพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง พบได้ตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคกลางและภาคใต้ และได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยงปลาสวยงามทั่วโลก แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ปลากระทิงไฟมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ทำให้ปริมาณปลากระทิงไฟในธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว กรมประมง เร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อขยายพันธุ์ปลากระทิงไฟ ภายใต้โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำประจำถิ่นหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทย เพื่อคงความหลากหลายของชนิดพันธุ์ และรักษาความสมดุลในระบบนิเวศ ตลอดจน เพาะขยายพันธุ์และอนุบาลลูกพันธุ์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงประกอบอาชีพ พร้อมส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงปลากระทิงไฟ เป็นปลาสวยงามเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต

นายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง กล่าวว่า เมื่อปี 2561 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสุพรรณบุรี ได้รวบรวมพันธุ์ปลากระทิงไฟจากแหล่งน้ำธรรมชาติบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม และราชบุรี นำมาเลี้ยงขุนเป็นพ่อแม่พันธุ์ จากนั้น ทำการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์เพศพร้อมที่จะผสมพันธุ์วางไข่มาเพาะพันธุ์ด้วยวิธีฉีดฮอร์โมนกระตุ้น โดยแม่พันธุ์ปลาจะฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 2 เข็ม ระยะเวลาห่างกันครั้งละ 24 ชั่วโมง ส่วนพ่อพันธุ์ปลาฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ 1 เข็ม พร้อมกับแม่พันธุ์ปลาเข็มที่ 2

โดยหลังจากฉีดฮอร์โมนประมาณ 48 ชั่วโมง จะสามารถรีดไข่จากแม่ปลาได้ไข่ปลากระทิงไฟที่มีลักษณะเป็นไข่จมติด มีสีส้ม เส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 2.7 มิลลิเมตร ประมาณ 1,450-2,500 ฟอง หลังจากนั้น รีดน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์เพื่อนำมาผสมกับไข่แล้วนำไปฟักในน้ำที่อุณหภูมิ 27-28 องศาเซลเซียส ใช้เวลาฟัก 56-57 ชั่วโมงจะได้ลูกปลาแรกฟักที่มีความยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร เมื่อลูกปลาอายุ 9 วัน ถุงไข่แดงยุบสามารถเริ่มให้ไรแดงร่อนเอาขนาดเล็กเป็นอาหาร และให้ไรแดงได้เมื่อลูกปลาอายุ 11 วัน หลังจากนั้น เมื่อลูกปลาอายุ 15-40 วัน สามารถพิจารณาให้ไรแดง ไรน้ำนางฟ้า หรือกุ้งฝอยขนาดเล็ก โดยพิจารณาตามขนาดของปากลูกปลาได้ตามลำดับ

ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสุพรรณบุรี มีการขับเคลื่อนการดำเนินการเพาะขยายพันธุ์ปลากระทิงไฟอย่างต่อเนื่อง จนสามารถผลิตลูกปลาที่มีความแข็งแรง และมีอัตรารอดสูงได้ประมาณ 1,500 ตัว ในปี 2563 และ 3,000 ตัว ในปี 2564 นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังได้มีการนำลูกปลากระทิงไฟขนาด 5-7 เซนติเมตร ที่ได้จากการเพาะพันธุ์ชุดแรก จำนวน 1,000 ตัว ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติที่เขื่อนกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นครั้งแรก ร่วมกับคนในชุมชนบริเวณรอบเขื่อน เพื่อเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ คืนความหลากหลายและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ ตลอดจนสร้างการรับรู้ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีไว้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...