รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบสัมฤทธิบัตรบัณฑิตแพทย์ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ปีการศึกษา 2559 แก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศ เพื่อรองรับการขยายบริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบสัมฤทธิบัตรบัณฑิตแพทย์ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ปีการศึกษา 2559 โดยมี บัณฑิตแพทย์สำเร็จการศึกษา เข้ารับสัมฤทธิ์บัตร จำนวนทั้งสิ้น 952 คน จากสถาบันการศึกษา 34 แห่ง
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ชนบท มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาการกระจายแพทย์ที่ไม่สมดุลในเขตเมืองและเขตชนบท เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ร่วมมือในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เพื่อเติมเต็มในระบบบริการสุขภาพของไทย นำไปสู่ความเสมอภาคการบริการทางสังคม นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ คัดเลือกเด็กนักเรียนจากพื้นที่ชนบท รับทุนกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเรียนแพทย์เป็นเวลา 6 ปี การเรียนการสอนชั้นปีที่ 1-3 เรียนที่มหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือจำนวน 14 แห่ง ส่วนชั้นปีที่ 4-6 เรียนที่ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก จำนวน 34 แห่ง ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ภายหลังสำเร็จการศึกษามีสัญญาผูกพัน ให้กลับไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในพื้นที่อย่างน้อย 3 ปีหรือ 12 ปี
กระทรวงสาธารณสุข ได้รองรับการขาดแคลนแพทย์ของประเทศใน 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2561 – 2570) โดยมีนโยบายผลิตแพทย์เพิ่มตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ดำเนินการประสานงานกับศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกของโรงพยาบาลครอบคลุม 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศทำหน้าที่ผลิตแพทย์รองรับขยายการให้บริการทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการรับนักศึกษา จำนวน 20 รุ่น จำนวน 13,357 คน มีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาแล้ว 16 รุ่น จำนวน 6,877 คน รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 17 สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2559 จำนวน 952 คน จากสถาบันการศึกษา 34 แห่ง ซึ่งบัณฑิตจะกลับไปปฏิบัติงานในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 98 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 332 คน ภาคกลาง จำนวน 199 คน ภาคตะวันออก จำนวน 109 คน ภาคตะวันตก จำนวน 33 คน และภาคใต้จำนวน 181 คน ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับการขยายการให้บริการทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย