ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สบส.สั่งฟันโฆษณายาในแพ็คเกจรักษาโควิด19
14 ก.ค. 2565

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่กรม สบส.ได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ตรวจสอบการจัดแพ็คเกจรักษาโรคโควิด 19 ของสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งปรากฏ ในสื่อโซเชียล ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่นั้น ในวันนี้ตน พร้อมด้วย ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.จึงนำทีมพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส. ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งนำทีมโดย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย.ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในย่านคลองหลวง

จากการตรวจสอบพบว่า โรงพยาบาลมีการโฆษณาแพ็คเกจรักษาโรคโควิด 19 แบบให้ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งมีแพ็คเกจหลายรูปแบบให้ผู้ป่วยเลือกรับบริการ โดยในบางแพ็คเกจมีการโฆษณาด้วยข้อความว่าจะมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หรือยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ให้ผู้ป่วยนำไปรับประทานระหว่างกักตัวตามอาการ แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องสั่งจ่ายและต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้สถานพยาบาลห้ามทำการโฆษณายา นอกจากได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน จึงจะมาขออนุมัติโฆษณาจากกรม สบส.แต่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวไม่ได้มีการยื่นเรื่องขออนุมัติ และไม่ได้รับอนุมัติให้โฆษณาแต่อย่างใด พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงแจ้งข้อหาการกระทำผิดกับผู้เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณาหรือประกาศดังกล่าว

รวมทั้งการโฆษณาแพ็คเกจการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ ก็เป็นการจ่ายยาตามอาการโดยไม่ได้จ่ายยาให้กับผู้ป่วยในทุกราย ทำให้ผู้รับบริการเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานพยาบาล ว่าเมื่อเข้ารับบริการแล้วจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ จึงถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 38 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณาหรือประกาศดังกล่าว

ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์และยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ภาครัฐจัดสรรให้สถานพยาบาลนำมาให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 ตามอาการอย่างเพียงพอ โดยไม่มีการจำหน่ายแต่อย่างใด ดังนั้น ประชาชนไม่ควรซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ และยาโมลนูพิราเวียร์ ที่มีการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลเนื่องจากอาจจะได้รับยสปลอม หรือยาที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึง ยาที่ไม่ถูกกฎหมายทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และให้แจ้งมาที่สายด่วนกรม สบส. 1426 และสายด่วน อย. 1556 เพื่อดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ด้าน ทพ.อาคม กล่าวต่อว่า ในการโฆษณาหรือประกาศทางการค้าของสถานพยาบาล จะต้องยื่นเรื่องขออนุมัติจากผู้อนุญาต โดยยื่นขออนุมัติต่อ กรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก่อนจึงจะสามารถเผยแพร่ได้ ซึ่งโฆษณาของสถานพยาบาลที่ผ่านการอนุมัติจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เป็นข้อมูลเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวง อีกทั้ง เป็นการลดปัญหาการฟ้องร้อง และเกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันด้านธุรกิจสถานพยาบาลในมาตรฐาน

กรม สบส.จึงขอกำชับให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งดำเนินการตามกฎหมายการโฆษณาอย่างเคร่งครัด รวมทั้ง มาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ของสถานพยาบาล อย่างการสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษ จะต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งต้องติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง หากมีการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งมีการควบคุมกำกับดูแลมาตรฐานการรักษาอย่างเคร่งครัด หากพบแห่งใดมีการดำเนินการที่ผิดจากมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ กรม สบส.ก็จะมีการดำเนินคดีกับสถานพยาบาลและแพทย์ผู้ให้บริการ   

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...