นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ 3 สถาบัน (จุฬาฯ ศิริราช รามาธิบดี) แพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาการแพทย์แผนไทย รวมทั้งผู้แทนภาคประชาชนเข้าร่วมประชุม
นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งด่วนในการพัฒนาพืชกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างรายได้ของประชาชน โดยนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ได้ขับเคลื่อนจนสามารถทำให้พืชกัญชาและพืชกัญชงไม่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติด เหลือแต่สารสกัดที่มี THC เกินร้อยละ 0.2 เท่านั้นที่ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้พืชกัญชา กัญชงทางการแพทย์ เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 6 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการใช้พืชกัญชากัญชง ได้แก่
1.คณะอนุกรรมการด้านการแพทย์และบำบัดฟื้นฟู 2.คณะอนุกรรมการด้านการให้ความรู้แก่เยาวชน ประชาชน เพื่อป้องกันผลกระทบทางสังคม 3.คณะอนุกรรมการด้านการผลิตทางเกษตรกรรม 4.คณะอนุกรรมการด้านการป้องกันการลักลอบนำเข้า การผลิตที่ผิดกฎหมาย 5.คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และ6.คณะอนุกรรมการด้านสื่อสารประชาสัมพันธ์ขึ้น เพื่อให้สามารถบูรณาการการทำงานได้อย่างครอบคลุม ตลอดจนติดตามและประเมินสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองประชาชนร่วมกัน
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกลไกการดำเนินงานที่รัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคม จึงต้องเร่งสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และให้คำแนะนำแก่ประชาชน รวมทั้งวางมาตรการที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ เพื่อให้การปลูกและการใช้พืชกัญชาและกัญชงเกิดประโยชน์สูงสุด
โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและอันตรายแก่ประชาชน และต้องไม่ปิดกั้นการศึกษา วิจัยทางการแพทย์ รวมถึงการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งจากผลสำรวจการรับรู้ข้อมูลประเด็นกัญชาของประชาชนระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2565 ยังพบว่าประชาชนมีความรับรู้ในเชิงบวก 12% ความคิดเห็นทั่วไป 52% และความคิดเห็นเชิงลบ 36%
“กระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันเจตนารมณ์การใช้กัญชา กัญชง เพื่อทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยจะสนับสนุนผู้ที่จะนำไปใช้ในทางที่ถูกต้อง นอกเหนือจากนี้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง และเจ้าพนักงาน สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที” นายอนุทินกล่าว