ที่ห้องประชุม สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ตำบลปะตอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ได้จัดการถอดบทเรียนทุเรียนตะวันออก 2565 เพื่อโอกาสการเติบโตในภายหน้า และเปิดโจทย์ความท้าทายใหม่ จากผู้มีความรู้และความสามารถที่เกี่ยวข้องกับทุเรียนจากสถาบันต่าง ๆ เช่น นางปัทมา นามวงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย นายณัฐกฤษฎ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน นายกิตติรัช กนกนาก กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟาร์มฟรุ๊ต จำกัด มีเกษตรกร และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
เวทีการถอดบทเรียนทุเรียนตะวันออก 2565 ในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอปัญหา อุปสรรค ของปีที่ผ่านมา รวมทั้งเพื่อนำเสนอข้อมูล และทิศทางของทุเรียนที่เกิดขึ้นในปีต่อไป เพื่อสะท้อนให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ เตรียมความพร้อมในการรับมือ และร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
นางปัทมา นามวงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ปีหน้าพื้นที่การปลูกทุเรียนของจังหวัดจันทบุรี จะมีเพิ่มกว่า 20,000 ไร่ ดังนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องทำทุเรียนคุณภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันและส่งออกได้
ทางด้าน นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กล่าวว่า ปัญหาทุเรียนที่พบมาโดยตลอด คือ ทุเรียนอ่อน แต่ 2 ปีมานี้ ปัญหาเริ่มลดลงน้อย เนื่องจากมีมาตรการที่เข้มงวด เช่น การประกาศวันตัดทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ที่ชัดเจน การตรวจอ่อน-แก่ ของทุเรียนก่อนการส่งออก ทั้งนี้การทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมา ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ และตามประกาศ คำสั่ง ของทางจังหวัด เพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้อง
ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร เลขาธิการสมาคมส่งเสริมธุรกิจเกษตระหว่างประเทศ และเป็นผู้ดำเนินรายการถอดบทเรียนทุเรียนตะวันออก 2565 กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาทุเรียนให้ครบวงจร มีประมาณ 4-5 ด้าน เช่น การพัฒนาสายพันธุ์ให้กับเหมาะพื้นที่ หรือ ทุเรียน GI เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด การสร้างการนำส่ง และกระจายสินค้าที่ชัดเจน และการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า นอกเหนือจากการขายผลสด ทั้งนี้ปีหน้า ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่สามารถส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนได้ จะมีเวียดนาม เพิ่มมาอีก 1 ประเทศ และในอนาคตก็จะมีประเทศในอาเซียนตามมาอีกหลายประเทศอย่างแน่นอน