นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานในหลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยให้มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการใช้พลังงานเดิม ๆ ที่เรียกว่าไฮโดรคาร์บอน ถ่านหิน น้ำมัน หรือ ก๊าซธรรมชาติ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปในอนาคต
ทั้งนี้ ปตท. ก็ต้องมีการปรับตัว จึงได้ออกวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with future energy and beyond” ซึ่งพลังงานอนาคต คือการปรับเปลี่ยนแนวทางในการลงทุนของปตท. เช่น การลงทุนด้านพลังงานทดแทน โดยการจัดตั้ง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ถือแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ดูแลในเรื่องของพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลม และแสงอาทิตย์ ทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจใหม่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ผ่านการจัดตั้ง บริษัท อรุณ พลัส เพื่อดูเรื่องของการลงทุนธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าตลอดทั้ง Value Chain ที่เป็นห่วงโซ่ สร้างอีโคซิสเต็ม อาทิ การลงทุนแบตเตอรี่ สร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้า โดยร่วมลงทุนกับ บริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ ในการตั้งโรงงานในประเทศไทย ในรูปแบบโรงงานผลิต OEM คือการรับผลิตรถไฟฟ้าตามการออกแบบรถไฟฟ้าของแต่ละยี่ห้อ
ทั้งนี้ จะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกภายในครึ่งปีแรกของปี ค.ศ. 2024 ส่วนสถานีชาร์จอีวี จะมีทั้งในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น และนอกสถานีบริการน้ำมัน ที่ดำเนินการโดย บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ตั้งเป้าหมายในสถานีบริการให้มี 500 แห่งภายในสิ้นปี 2565 อีกทั้ง ยังมีศูนย์ซ่อมบำรุงรักษา FIT Auto ของโออาร์ สามารถให้บริการหลังการขายได้ครบวงจร
นายอรรถพล กล่าวว่า ตั้งเป้าลงทุนปี ค.ศ. 2030 ของธุรกิจใหม่ในสัดส่วน 30% ส่วนการสนับสนุนพลังงานยั่งยืนในประเทศไทย อย่างแรกที่ตำนึงคือความมั่นคง ต้องให้มั่นใจว่าประเทศไทยมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ดังนั้น บทบาทที่ปตท.ทำคือลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับพลังงานทุกชนิด อาทิ โรงกลั่น ท่ารับ LNG การลงทุนวางท่อก๊าซ การหาแหล่งก๊าซรอบบ้าน และวางระบบท่อก๊าซให้ครอบคลุม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ
นายอรรภพล กล่าวว่า พลังงานแบ่งเป็น 3 ตัวหลัก คือ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ โดยก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นฟอสซิลที่สะอาดที่สุด ดังนั้น ก๊าซธรรมชาติจะยังมีอนาคต ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ดังนั้น ปตท.ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น LNG ฮับ โดยมีปัจจัยหลัก คือ
1. ประเทศไทยมีความต้องการใช้ต่อปีที่สูงขึ้น
2. ปตท.มีตัวท่ารับถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม โดยปตท. ตั้งเป้าที่จะเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายก๊าซ LNG ภายในปี ค.ศ. 2030 ให้ได้ 9 ล้านตันต่อปี ซึ่งปีที่ผ่านมา ปตท. ได้นำ LNG เข้ามาในประเทศและส่งออกไปขายยังประเทศญี่ปุ่น หรืออีกรูปแบบคือนำเข้ามาเก็บในถังที่เล็กลงแล้วส่งออกไปขายประเทศเพื่อนบ้าน ซื้อมาขายไปรูปแบบ ISO Tank อาทิ จีน กัมพูชา และ ลาว ถือเป็นความตั้งใจให้ประเทศไทยเป็นฮับของ LNG เพราะ ลาว และกัมพูชา ไม่มีท่ารับจัดเก็บ LNG เหมือนประเทศไทย
สำหรับหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นฮับ LNG ประกอบด้วย
1. ความต้องการใช้งานเป็นพื้นฐาน ดังนั้น ปตท.สามารถใช้ตัวความต้องการนี้ หารือกับผู้ค้าเพื่อหาแหล่งซัพพลายที่จะซื้อเข้ามาในประเทศ
2. โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นคลังจัดเก็บก๊าซ LNG ที่พร้อม ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะ ท่ารับก็ต้องเป็นท่ารับเฉพาะ ถือเป็นจุดแข็ง ซึ่ง ปตท. มีกำลังการรับ LNG ถึง 19 ล้านตันต่อปี ใหญ่ที่สุดของอาเซียน
“ความต้องการใช้ LNG ในประเทศไทยปีนี้อยู่ที่ 8 ล้านตัน โตกว่าปี 2564 ที่มีปริมาณการใช้ที่ 5.9 ล้านตัน ดังนั้น การจะเป็นฮับ คือการซื้อมาแล้วขายไป หรือซื้อมาแล้วเก็บไว้ขายในช่วงที่ราคาสูง เป็นต้น ทั้งนี้ ปตท.จะให้ความสำคัญการใช้งานของประเทศก่อน ส่วนที่เหลือก็สามารถนำเอาไปส่งออกได้ และด้วยกำลังการจัดเก็บเรามีมาก ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ” นายอรรถพล กล่าว
ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางเมียนมามีคำสั่งให้บริษัทต่างๆ รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่มีเงินกู้ต่างประเทศ ระงับการชำระคืนหนี้ต่างประเทศชั่วคราว เพื่อต้องการรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น ตอนนี้ ธุรกิจกลุ่มปตท.ยังไม่กระทบอะไร
ด้านนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 อีกสิ่งสำคัญคือ การดำเนินโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS)
ทั้งนี้ ปตท.สผ.ระหว่างการออกแบบวิศวกรรมโครงการแหล่งอาทิตย์ เพื่อที่จะใช้แท่นเก่าที่ผลิตก๊าซมาเป็นหลุ่มเพื่ออัดก๊าซคาร์บอน (CO2) ลงไปเก็บไว้ในหลุม ถือว่ามีต้นทุนเพราะท่อที่วางจะเป็นท่อที่พิเศษ ที่จะแยกจากโครงการอาทิตย์กลับไปเก็บในชั้นที่เราผลิตไปแล้ว ตั้งเป้าเฟสแรกที่ 4-5 หลุม และติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะ เช่น เกิดการรั่วซึมหรือไม่ ซึ่งคาร์บอนจะไม่มีอันตรายแม้จะรั่วซึม เพราะไม่ใช่แก๊สที่เป็นพิษ โดยตั้งเป้ากักเก็บแหล่งอาทิตย์ที่ 1 ล้านตันต่อปี ส่วนเงินลงทุนโครงการ CCS วางไว้ 5 ปี (2565-2569) ที่ 300 ล้านดอลลาร์
สำหรับโครงการต่อไปคือโครงการสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี โดยบริษัทญี่ปุ่นให้ความสนใจจะมาร่วมลงทุนเพื่อนำคาร์บอนจากแหล่งอื่นๆ จากโรงผลิตไฟฟ้า โรงแยกกระดาษ มาเปลี่ยนเป็นของเหลวนำไปเก็บในชั้นหลุมที่ปตท.สผ. ขุดเจาะมา แต่ต้องวางท่อใหม่ ซี่งขณะนี้ปตท.สผ.ได้ลงนามความร่วมมือ MOU บริษัท อินเป็กซ์ คอร์ปอเรชั่น และเจจีซี โฮลดิ้งส์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น ศึกษาความเป็นไปได้ในของโครงการ CCS โดยการศึกษาจะไม่ใช้เวลานาน เพราะญี่ปุ่นได้ดำเนินการแล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของโครงการ CCS คือ การแก้กฎระเบียบข้อบังคับกฎหมายปิโตรเลียม เพื่อดำเนินการในแหล่งอื่นนอกสัมปทาน ซึ่งรัฐบาลจะต้องดูว่ากฎหมายจะเอื้ออย่างไร เพื่อให้เราสามารถใช้พื้นที่อื่นเพื่อกับเก็บคาร์บอน เพราะปริมาณแหล่งก๊าซในอ่าวไทยสามารถกับเก็บคาร์บอนได้ถึง 40 ล้านตัน ในปี ค.ศ. 2040 เพราะประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอน 250 ล้านตันต่อวัน ถ้าเปลี่ยนรถ EV ทั้งประเทศได้ ปริมาณคาร์บอนจะลดลงมาที่ 160-170 ล้านตันต่อวัน ที่เหลือจะเป็นการลดปริมาณทางอ้อม เช่น การปลูกป่า เป็นต้น
“เบื้องต้นได้หารือกับภาครัฐแล้ว โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องการกับเก็บคาร์บอน โดยจะมีการประชุมเร็วๆ นี้เพื่อผลักดันแผนดำเนินการ แต่หัวใจหลักคือการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ส่วนการลงทุนเมียนมายังคงดำเนินโครงการต่อเนื่อง เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน” นายมนตรี กล่าว