ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
การแต่งตั้งคณะกรรมการสามัญ หรือคณะกรรมการวิสามัญของสภา กทม.
04 ส.ค. 2565

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

การแต่งตั้งคณะกรรมการสามัญ หรือคณะกรรมการวิสามัญของสภา กทม.

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ เดือนกรกฎาคมปีนี้ วันหยุดมากเกือบครึ่งเดือนทีเดียว หลายท่านคงมีเวลาปลีกตัวจากบ้านไปพักผ่อนหย่อนใจกัน การท่องเที่ยวดูเหมือนจะคึกคักขึ้นบ้าง แต่เจ้าโควิทนี่สิครับ มันแปลงกายอยู่เรื่อย จนดูเหมือนสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอีก บางโรงเรียนก็ต้องหยุดเรียนกัน ใครรับผิดชอบบ้านเมืองเรื่องอะไรก็แก้ไขกันไป อย่าเอาแต่ประโยชน์ตนเองและพวกพ้องจนเดือดร้อนชาวบ้านนะครับ

ระหว่างนี้เท่าที่ทราบ กรุงเทพมหานครกำลังพิจารณางบประมาณ 79,000 ล้านบาทอยู่ และบรรดา ส.ก.ชุดนี้ทั้ง 50 คน กำลังขมีขมันพิจารณาอย่างเข้มข้น ก็ให้กำลังใจครับ แต่อย่าคิดเอาประโยชน์ส่วนตัวมากกันนะครับ คนเขารู้ และจับตาดูอยู่ครับ ยิ่งสื่อ social มันแรง ดูแค่เรื่อง ส”ก.คนหนึ่งที่ถูกร้องเรียนเรื่องอนาจารเด็ก ที่เข้าข่ายถูกคุกคามทางเพศเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตอนนี้ไม่รู้ว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว เพียงแต่รู้ว่า ส”ก.รายนั้น ถูกพรรคตัวเองขับออกจากพรรคไปแล้ว แต่ยังไม่พ้นสมาชิกภาพ ซึ่งคนกรุงเทพฯ ก็ต้องตามดูครับว่า สภา กทม.ที่เพิ่งเข้ามารับงานไม่ถึง 2 เดือน มีข่าวฉาวโฉ่เช่นนี้จะทำอย่างไรกัน หรือปล่อยให้เรื่องเงียบไปเอง

พูดถึงเรื่องนี้อย่าลืมนะครับว่า พ.ร.บ.มาตรฐานจริยธรรม พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้ว เพียงแต่ทราบว่า มาตรฐานทางจริยธรรมของ ส.ก.ยังไม่คลอดออกมา ก็คงต้องใช้ข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2559 ไปพลาง

มาเรื่องสภา กทม.ต่ออีกเรื่องนะครับ ในการทำหน้าที่ของสภานั้น ท่าน ส.ก. 50 คน จะแบ่งกันไปเป็นคณะกรรมการคณะต่างๆ เพื่อทำกิจการ สอบสวน ติดตาม ตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะในการทำงานตามหน้าที่อำนาจของ กทม.ในแต่ละด้าน ก็จำแนกตามภารกิจสำคัญๆ เช่น คณะกรรมการการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมก็ติดตามดูแลงานของสำนักพัฒนาสังคม คณะกรรมการการโยธาและผังเมืองดูแลสำนักการโยธาและสำนักวางแผนและพัฒนาเมือง คณะกรรมการด้านการสาธารณสุขดูแลสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย เป็นต้น

เดิมมี 10 คณะ ต่อมาได้แยกงานสำนักวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและกีฬาออกจากคณะกรรมการการศึกษาและวัฒนธรรม ไปเป็นคณะกรรมการการวัฒนธรรม ท่องเที่ยวและกีฬา และล่าสุดปี 2563 ส.ก.สรรหาชุดที่แล้ว ได้แยกงานสำนักการระบายน้ำออกมาจากคณะกรรมการการจราจรและการขนส่งระบายน้ำออกไปเป็นคณะกรรมการการระบายน้ำอีกคณะ ล่าสุดปัจจุบันจึงมี 12 คณะ ก็ไม่ทราบเหมือนกันครับว่า ทำไมเพิ่งจะแยกคณะกรรมการการระบายน้ำออกไปจากคณะกรรมการการจราจรและขนส่งฯ ทั้งที่ควรตั้งคณะนี้แต่แรก เพราะปัญหาน้ำท่วมน้ำรอระบายอะไรนั้นมั นปัญหาหลักของ กทม.ทีเดียว

นอกจากนี้ ในข้อบังคับการประชุมสภา กทม. พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้คณะกรรมการสามัญแต่ละคณะมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ไม่เกิน 9 และ ส.ก.แต่ละคนเป็นกรรมการสามัญประจำสภาได้ไม่เกิน 2 คณะ อีกทั้งอยู่ในแต่ละคณะมีวาระ 2 ปี จึงจะมีการเลือกใหม่ ซื่งอาจเป็นชุดเดิมก็ได้ แต่ละคนมีเบี้ยประชุมครั้งละ 1,000 บาท ประธานจะได้ครั้งละ 1,250 บาท สำหรับเลขานุการในแต่ละคณะก็จะเป็น ส.ก.ด้วยกันนั้นเอง เว้นแต่ผู้ช่วยเลขานุการคณะ ซึ่งต้องเอาจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขานุการสภา  กทม. เพื่อหาข้อมูลสรุปประเด็น รวมถึงหาเครื่องดื่มขนมนมเนยให้

นอกจากนี้ แต่ละคณะอาจตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาได้อีก โดยให้ ส.ก.ที่อยู่ในแต่ละคณะเป็นประธาน อนุกรรมการนี้จะเอาคนนอกเข้ามาเป็นด้วยก็ได้ แต่เบี้ยประชุมครั้งละคนละ 500 บาท ประธานจะได้ครั้งละ 625 บาท และข้อบังคับเดิมนั้น กำหนดให้คณะกรรมการแต่ละคณะตั้งคณะอนุกรรมการได้ไม่เกิน 4 คณะ คณะหนึ่งไม่เกิน 15 คน เว้นแต่กรณีจำเป็นอาจขอประธานสภา กทม.ตั้งเกินก็ได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ตอนออกข้อบังคับปี 2562 ส.ก.สรรหาชุดนั้นมีเพียง 26 คน จะใช้ข้อบังคับเดิมที่เคยมีมาก็จะทำไม่ได้ เพราะคนไม่พอ จึงต้องออกข้อบังคับปี 2562  ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา

แต่เวลาตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น สภามีอำนาจตั้งคณะอนุกรรมการเกิน 4 คณะได้ เพราะต้องดูงบประมาณทุกสำนัก ทุกเขต จำเป็นต้องระดมสมาชิกแบ่งกันไปช่วยกันพิจารณารวมถึงให้มีคนนอกช่วยด้วย นอกจากนั้นแล้ว เวลาที่ ส.ก.คนใดหรือคณะใดจะศึกษาเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของสภา กทม. เช่น การแก้ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาโรคระบาดใน กทม. ปัญหาด้านการจราจร น้ำท่วม หรือปัญหาด้านใดด้านหนึ่งของ กทม.ก็ตาม สมาชิกสภาก็จะเสนอต่อประธานขอตั้งคณะกรรมการวิสามัญเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ขึ้นมาก็ได้ ภายในกำหนดระยะเวลาที่สภาเห็นชอบ และจะสิ้นสภาพเมื่อได้ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายและรายงานสภาไปแล้ว ซึ่งในเรื่องการตั้งคณะกรรมการวิสามัญนี้ ทางฝ่ายบริหารคือทางผู้ว่าฯ ก็จะเสนอรายชื่อสมาชิกและคนนอกที่เห็นสมควรมาเป็นกรรมการวิสามัญร่วมกับสภาได้

ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ ก็จะมักเสนอเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของสำนักที่รับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สภาจะศึกษานั้นเอง รวมถึงทาง ส.ก.ผู้ใดเป็นผู้เสนอตั้งคณะกรรมการวิสามัญนั้น จะเสนอรายชื่อกรรมการซึ่งไม่ใช่ ส.ก.ก็อีกก็ได้ ซึ่งสัดส่วนของฝ่ายบริหารตั้งได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งคณะวิสามัญ และจะได้เบี้ยประชุมเท่ากับคณะกรรมการด้านต่างๆ เช่นกันครับ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนี้ทราบว่า ส.ก.ชุดปัจจุบันได้แก้ไขข้อบังคับการประชุมสภา กทม. พ.ศ. 2565 สาระสำคัญที่เปลี่ยนจากเดิม เช่น ให้คณะกรรมการสามัญประจำสภาเลือกจากสมาชิกอย่างน้อย 5 คน อย่างมากไม่เกิน 12 คน จากเดิม 9คน  และ ส.ก.คนหนึ่งเป็นกรรมการสามัญได้ไม่เกิน 3 คณะ จากเดิม 2 คณะ ส่วนการตั้งคณะอนุกรรมการก็ให้ตั้งตามจำนวนกรรมการแต่ละคณะๆ หนึ่งไม่เกิน 15 คน และยังแก้ไขให้อนุกรรมการใครก็ได้ที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการให้เป็นประธาน ครับ

โดยสรุปการแต่งตั้งคณะกรรมการสามัญหรือคณะกรรมการวิสามัญของสภา กทม.วันนี้ได้เปลี่ยนไปจากเดิมหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งต้องตามกันต่อครับ แล้วที่ตั้งไปนั้นทำประโยชน์ให้คน กทม.มากน้อยแค่ไหน

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...