เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 11 สิงหาคม ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ.ร่วมกับ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลทลายแหล่งผลิตและขายชุดตรวจโควิด-19 ปลอม มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ในพื้นที่ จ.นนทบุรี และ จ.นครปฐม
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า สืบเนื่องจากตำรวจ บก.ปคบ. ได้รับการร้องเรียนว่ามีมิจฉาชีพปลอมชุดตรวจเอทีเคที่ได้รับการอนุญาตจาก อย. โดยปลอมยี่ห้อมาจำหน่าย จึงสืบสวนก่อนนำกำลังเข้าตรวจค้นและยึดเอทีเคปลอมได้จำนวนมาก
ขณะที่ พ.ต.อ.เนติ กล่าวว่า โดยจุดแรก เจ้าหน้าที่นำหมายศาลจังหวัดนครปฐม ตรวจค้นอาคารพาณิชย์ในพื้นที่ ต.นราภิรมย์ อ.บางเลน จ.นครปฐม เป็นสถานที่ผลิตชุดตรวจเอทีเคปลอม มี น.ส.อนุสรา (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และสถานที่ และมีพนักงานคอยทำหน้าที่บรรจุอุปกรณ์ตรวจโควิด-19 ซึ่งเป็นยี่ห้อที่เป็นที่นิยม โดยมีของกลาง 14 รายการ ได้แก่ ชุดตรวจยี่ห้อ testsealabs gica สุขสบาย, ชุดตรวจยี่ห้อ testsealabs nex, ชุดตรวจยี่ห้อ zybio, ตลับตรวจ, กล่องผลิตภัณฑ์, น้ำยาตรวจโควิด, ไม้แยงจมูก, หลอดหยด, หลอดเก็บตัวอย่าง, กระดาษเก็บตัวอย่างน้ำลาย และหน้ากากอนามัยยี่ห้อ hurs รวมจำนวนหลายหมื่นชิ้น
พ.ต.อ.เนติ กล่าวอีกว่า ส่วนจุดที่ 2 เจ้าหน้าที่นำหมายศาลจังหวัดนนทบุรี ตรวจค้นบ้านในพื้นที่ ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดเก็บเพื่อรอกระจายสินค้า โดยมี น.ส.ปัชญาพร (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นเจ้าของสถานที่และผลิตภัณฑ์ และพบใบรับสินค้าชุดตรวจเอทีเคจากโกดังที่จัดเก็บสินค้าแห่งแรก และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์อื่น และสมุนไพรจีน ได้แก่ ชุดตรวจโควิดยี่ห้อ testsealabs gica, testsealabs nex, greenspring, singclean, seinofy, hip, deepblue, humasis, bioteke, ustar, ถุงมือทางการแพทย์, เครื่องวัดออกซิเย่นปลายนิ้ว , ปรอทวัดไข้ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร lianhua qingwen jiaonang รวมจำนวนหลายหมื่นชิ้น
พ.ต.อ.เนติ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่าชุดตรวจเอทีเคปลอมดังกล่าว ถูกจำหน่ายผ่านเพจเฟซบุ๊กของผู้ต้องหาตั้งแต่เดือน เมษายนที่ผ่านมาในราคาชุดละ 40-45 บาท ซึ่งถือว่าถูกกว่าท้องตลาด และยังจำหน่ายผ่านช่องทางอื่นๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการล่อซื้อสินค้าจากร้านค้าบริเวณใกล้จุดตรวจแห่งแรกใน จ.นครปฐม และพบความเชื่อมโยงไปยัง จ.นนทบุรี ก่อนรวบรวมหลักฐานเพื่อขอหมายค้นจากศาล โดยหลังจากนี้จะขยายผลไปยังนายทุนชาวจีน ที่แยกสินค้าแต่ละชิ้น เช่นไม้แยงจมูก น้ำยาตรวจโรค แล้วส่งมาที่ จ.นนทบุรี ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าขนส่งมาด้วยวิธีใด ก่อนจะส่งของไปยัง จ.นครปฐม พร้อมจ้างโรงงานในไทยผลิตกล่องกระดาษ เทปติดข้างกล่อง โดยเบื้องต้นพบว่ามีผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 4 ราย
พ.ต.อ.เนติ กล่าวอีกว่า สำหรับจุดสังเกตชัดตรวจเอทีเคปลอมนั้น คือตลับชุดตรวจภายใน จะมองเพียงกล่องภายนอกไม่ได้ โดยให้สังเกตของปลอมจากเลขล็อตการผลิตบนกล่องบรรจุและตลับตรวจข้างในจะไม่ตรงกัน เช่น กล่องเขียนว่า AOM แต่ซองตรวจเป็น L12 เพราะหากเป็นของแท้ เลขล็อตจะต้องตรงกัน หากพบว่าไม่ตรงกันให้สันนิษฐานว่าเป็นของปลอม เพราะของที่บรรจุเสร็จมาจากแหล่งผลิตประเทศใดๆ ก็จะมาทั้งหมดพร้อมกันไม่แยกส่วน
ด้าน นพ.ไพศาล กล่าวว่า เครื่องตรวจออกซิเย่นปลายนิ้ว และชุดตรวจเอทีเค ถือเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ โดยการปลอมยี่ห้อและชื่อผู้ผลิต ทำให้ชุดตรวจนั้นไม่มีคุณภาพหรือมาตรฐานความปลอดภัย อาจส่งผลต่อการตรวจหาโรค ถือเป็นอันตรายต่อการรักษาและเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคอย่างร้ายแรง ซึ่งการขออนุญาตชุดตรวจเอทีเคจาก อย.มี 2 ชนิด คือ แบบตรวจเอง มีการอนุญาตแล้ว 300 รายการ สามารถค้นหายี่ห้อผ่านเว็บไซต์ อย.ได้ และแบบให้ผู้อื่นตรวจ ซึ่งในการตรวจสอบ จะต้องแกะกล่องดูว่า วันที่ผลิตและวันหมดอายุบนกล่อง ตรงกับซองตลับภายในหรือไม่ จึงขอให้ประชาชนซื้อสินค้าจากร้านที่น่าเชื่อถือ โดยโทษของการกระทำผิดดังกล่าวมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์