นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรปลูกผักเฝ้าระวังโรคใบจุด หรือใบจุดตากบ สาเหตุจากเชื้อราทำลายผลผลิตผักสลัดทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเฉพาะผักที่มีใบกว้าง โดยเริ่มแรกแผลมีลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลอ่อน ต่อมาแผลขยายใหญ่มีลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลม เรียงซ้อนกันเป็นชั้น แผลมีหลายขนาดตั้งแต่จุดเล็กถึงจุดใหญ่ เกิดกระจายทั่วใบ
วิธีการป้องกันกำจัด ให้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดโรค หรือฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ด โดยแช่ในน้ำอุ่น ประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 20-25 นาที และก่อนการปลูกควรไถพรวนดินลึกๆ ทิ้งไว้อย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้เศษซากพืชและวัชพืชย่อยสลาย จัดการแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี ควรมีอากาศถ่ายเท หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอเมื่อพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช
นอกจากนี้ ผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด อาจถูกการทำลายจากโรคเน่าเละ โดยอาการเริ่มแรก แผลมีลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำเล็กๆ บนใบหรือบริเวณลำต้น ต่อมาแผลจะขยายลุกลามมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อพืชบริเวณแผลจะยุบตัวลง มีเมือกเยิ้มออกมาและมีกลิ่นเหม็นเฉพาะของโรคนี้ หลังจากนั้นพืชจะเน่ายุบตายไปทั้งต้น โรคนี้พบระบาดมากในฤดูฝน เชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืช ทั้งที่อยู่ในแปลงปลูกและในโรงเก็บการป้องกันกำจัด ให้เลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และมีการระบายน้ำที่ดีก่อนปลูกพืชควรไถพรวนดิน ไม่ควรปลูกพืชแน่นเกินไปเพื่อไม่ให้มีความชื้นสูงเป็นการลดการระบาดของโรคและระมัดระวังไม่ให้ส่วนต่างๆ ของพืชเกิดแผลซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายพืช หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอหากพบต้นที่แสดงอาการของโรคให้ขุดต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก