ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
การขัดกันแห่งผลประโยชน์
18 ส.ค. 2565

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

การขัดกันแห่งผลประโยชน์

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ผ่านไปอีกครั้งเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีกับคณะเมื่อเดือนที่ผ่านมา ก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ เหลืออีกเรื่องการนับวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ลุงตู่ก็คงเช่นเดียวกัน พี่น้องประชาชนจะเลือกตั้งก็ไปต้นปีหน้าแล้วกันนะครับ

เรามาว่าอีกเรื่องที่น่าสนใจของคนที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น คือเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งตามกฎหมาย ป.ป.ช. ว่าโดยเฉพาะแล้ว ก็ยังมีกฎหมายของ อปท.เองที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกัน ว่าตามกฎหมายของ ป.ป.ช.ก่อนนะครับ ในเรื่องการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมเขียนไว้ในมาตรา 126 ที่ห้ามผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่นทุกประเภท รวมถึงคู่สมรส และยังห้ามไปถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วยครับ ที่จะไม่ให้เข้าไปรับงานในหน่วยงานที่ตัวเองเป็นนายก อบต. นายกเทศมนตรี หรือนายก อบจ. เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสนั้น ดําเนินการอยู่ก่อนที่ผู้บริหารหรือรองผู้บริหารท้องถิ่นจะเข้าดํารงตําแหน่ง

โดยได้ห้าม 4 เรื่อง เรื่องแรกคือ เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทํากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งมีอํานาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกํากับ ดูแลควบคุม ตรวจสอบหรือดําเนินคดี ยกตัวอย่างเช่น นายกเทศมนตรีหรือรองนายกเทศมนตรีหรือภรรยา ทั้งจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนนำบริษัทห้างร้านตัวเองหรือใช้คนของตนเป็นนอมินีไปทำสัญญารับงานในเทศบาลที่ตัวเองเป็นนายกเทศมนตรี 

เรื่องที่สองที่ห้าม เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งมีอํานาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกํากับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดําเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัดไม่เกินจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด เช่น นายกหรือรองนายก อบจ.เป็นหุ้นส่วน หรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนบริษัทใดก็ตาม จะไปรับจ้างงานใน อบจ.ที่ตนเองเป็นนายกหรือรองนายกนั้นไม่ได้ เว้นแต่ที่ถือหุ้นในห้างร้านบริษัทในจำนวนไม่เกินที่ ป.ป.ช.เขากำหนดให้ถือได้ เช่นนี้ก็อาจเข้าไปรับงานได้ 

เรื่องที่สาม รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือ บริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งมีอํานาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกํากับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดําเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัดไม่เกินจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับเรื่องที่สอง แต่เป็นเรื่องการรับสัมปทานกิจการต่าง ๆที่อยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่นที่ตัวเองกำกับดูแล ซึ่งเรื่องนี้อาจจะมีในเรื่องสัมปทานเก็บรังนก สัมปทานขุดดิน ขุดแร่ ขุดทราย เป็นต้น

และเรื่องที่สี่ เป็นเรื่องเข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชน ซึ่งอยู่ภายใต้การกํากับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานท้องถิ่นที่นายกหรือรองนายกนั้นอยู่ในตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นนายกหรือรองนายก ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้น อาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติของนายกหรือรองนายกคนนั้น สำหรับในเรื่องที่สองและสาม ถ้านายกหรือรองนายกทำอยู่ก็ต้องถอนตัวออกไปหรือต้องดําเนินการไม่ให้มีลักษณะดังกล่าวภายใน 30  วัน นับแต่วันที่เข้าดํารงตําแหน่ง แค่นั้นยังไม่พอครับกฎหมาย ป.ป.ช.ยังห้ามมิให้นายกหรือรองนายกของ อปท.ทุกประเภทดําเนินการใดตามข้อสี่ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตําแหน่ง

แล้วถ้าผู้บริหารรองผู้บริหารคนใดฝ่าฝืนไปทำทั้งที่เขาห้ามแล้ว ผลเป็นยังไงครับ ก็มีโทษคือจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับครับ สำหรับเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์นี้ ป.ป.ช.เขากำหนดตำแหน่งเพียงแค่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่นและรองผู้บริหารท้องถิ่นใน อปท.ทุกประเภท แม้จะผิดเรื่องข้างต้นแล้วยังอาจต้องรับผิดทางอาญาอีกนะครับ ตอนหน้าก็จะคงเล่าเรื่องนี้ต่ออีกครั้งนะครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...