มกอช.หนุนยุทธศาสตร์ด้านอาหารของประเทศไทย เร่งจัดอบรมการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียนให้ได้มาตรฐาน มุ่งสร้างการรับรู้อาหารศึกษา สร้างสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม “การจัดการอาหารและโภชนาการ ในสถานศึกษาให้ได้มาตรฐาน” โดยมีนายกเทศมนตรีเมืองบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ผู้บริหารสถานศึกษา อาจารย์ และผู้เข้าอบรม ร่วมในพิธีดังกล่าว ณ ห้องประชุมเทศบาลเมืองบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom meeting
นายพิศาล กล่าวว่า มกอช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 ที่เน้นการเชื่อมโยงทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศที่ยั่งยืน ประชาชนได้รับอาหารที่มีคุณภาพ และมีสุขภาวะที่ดีขึ้นจากการได้รับอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายข้างต้นได้นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบูรณาการบริหารจัดการในทุกระดับ
โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นที่เป็นหน่วยงานปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด นอกจากนี้ มกอช. ยังเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการสร้างระบบอาหารศึกษา เพื่อยกระดับความรู้เรื่องมาตรฐานและความปลอดภัย โดยเฉพาะการสร้างระบบอาหารศึกษากับกลุ่มเยาวชนและนักเรียน เนื่องจากการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย พอเพียงกับความต้องการจะส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตมีพัฒนาการที่สมวัย และเด็กนักเรียนที่ได้รับความรู้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตลอดชีวิตอีกด้วย
มกอช. ได้จัดทำโครงการเพิ่มความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารมาตรฐานในสถานศึกษา สู่โรงเรียนอาหารปลอดภัย (Q canteen) เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงอาหารวัตถุดิบปลอดภัยในโรงเรียน ผ่านกิจกรรมอบรมการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษาให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้อาจารย์สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการสอนนักเรียน หรือการดำเนินกิจกรรมด้านการผลิตและการบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยในสถานศึกษา
ซึ่งล่าสุด มกอช.ได้ร่วมมือกับเทศบาลเมืองบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา จัดอบรม “การจัดการอาหารและโภชนาการ ในสถานศึกษาให้ได้มาตรฐาน” ขึ้น เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชนภายในชุมชนจากการได้รับอาหารที่มีคุณภาพ โดย มกอช. ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมโรงเรียนในสังกัดเทศบาลใน 3 ด้าน ได้แก่
1.ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงอาหารวัตถุดิบปลอดภัยในโรงเรียน 2.ด้านอาหารศึกษา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินการเกษตรในสถานศึกษาตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร และ 3.การสร้างเมนูโภชนาการกลาง
“ผมเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย จะสำเร็จได้จะต้องเกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่าย เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ประชาชนได้รับอาหารที่มีคุณภาพ และมีสุขภาวะที่ดีจากการได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งสถานศึกษาก็เป็นเป้าหมายสำคัญในการสร้างการรับรู้ และตระหนักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านอาหารที่บริโภค โดยเริ่มจากครู นักเรียน ตลอดจนผ่านไปยังผู้ปกครอง
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ เนื่องจากโรงเรียนถือเป็นหนึ่งในแหล่งกระจายสินค้าเกษตรที่สำคัญผ่านโครงการอาหารกลางวันด้วย”