ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ชลประทานพร้อมรับมือน้ำหลากมั่นใจไม่ท่วม
20 ส.ค. 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน  เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่  1 ม.ค. จนถึงปัจจุบัน ปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย อยู่ที่  16 %มากกว่าปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยในรอบ 30 ปี และมากกว่าที่ กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ค่าเฉลี่ยฝนตลอดทั้งปี 2565 ไว้ที่ 6%   โดยในปีนี้ ฝนมาเร็ว โดยเริ่มตกตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าเฉลี่ยฝนก็พุ่งเกินที่คาดไว้

อย่างไรก็ตามฤดูฝน และช่วงเวลาที่ฝนตก ยังเหลือเวลาอีกอย่างน้อย 3 เดือน จึงมีความเป็นไปได้ว่าฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยกว่านี้หรือไม่  หรืออาจจะกลับไปน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์ โดยกรมชลประทานได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า  

นอกจากการปฏิบัติตามแผน 13 มาตรการรับมือฝน แล้ว ยังได้ทำแผนวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อรับมือน้ำหลาก เช่น การวิเคราะห์สถานการณ์อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำลำคลอง และพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องสิ่งกีดขวางทางน้ำ  การกำจัดวัชพืช และการขุดลอกคูคลอง พร้อมทั้งได้มีการเตรียมพร้อมเรื่องเครื่องมือ และคันกั้นน้ำ ให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา โดยได้กระจายเครื่องจักรไปที่ศูนย์ชลประทานทั่วประเทศเพื่อให้ทันกับสถานการณ์   

สำหรับการบริหารจัดการน้ำช่วงน้ำหลาก  ที่เกิดขึ้นจากน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือ น้ำฝน และน้ำ ทะเลหนุน  นั้นกรมชลประทานจะใช้เขื่อนเจ้าพระยาที่ จ. ชัยนาท เป็นเครื่องมือจัดการ โดยจะเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่สถานี C 29 ที่บางไทร ไม่ให้เกิน 3,500 ล้าน(ลบ.ม.) โดยใช้เขื่อนเจ้าพระยา เป็นเครื่องมือระบาย ออกทั้งฝั่งซ้ายคือภาคตะวันออก และฝั่งขวา คือภาคตะวันตก 

โดยฝั่งตะวันออกนั้นน้ำที่ระบายจะไหลไปตามคลองระพีพัฒน์ เข้าคลองหกวา  คลองแสนแสบ คลองบางขนาก เข้าแม่น้ำบางปะกง และออกทะเล หรือหากปริมาณน้ำมากจะสามารถระบายน้ำเข้าคลองสำโรง แล้วสูบออกทะเลได้เช่นกัน ส่วนฝั่งตะวันตก มีแม่น้ำท่าจีนรองรับอยู่

“ในปี54 น้ำท่วมหนัก การเฝ้าระวังที่  C29 นั้นต้องรับน้ำถึง 3,800 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากเกินศักยภาพ อันเนื่องมาจากมีพายุเข้าปีนั้น 4 ลูก ติดๆกันตกในพื้นที่เดิมเหนือเขื่อน เป็นครั้งแรกที่เขื่อนภูมิพลเต็ม และระบายน้ำสูงสุด  แต่ในปีนี้คาดว่าปริมาณน้ำไม่มากขนาดนั้นและไม่ท่วมเป็นบริเวณกว้างอย่างแน่นอน แต่ในกรณีที่ 3 เดือนข้างหน้าหากฝนตกตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ซึ่งเป็นผลจากพายุ หรือร่องมรสุม อาจเป็นไปได้ที่ฝนจะท่วมเป็นบางจุด ซึ่งกรมชลประทานได้ประเมินความเสี่ยงและเตรียมเครื่องมือพร้อมเข้าบรรเทาสถานการณ์แล้ว” 

สำหรับการระบายน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อวันที่  20 ส.ค. นั้นอยู่ที่  1,300  ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อขึ้นจากการระบายเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่1,270 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อเตรียมพื้นที่รับน้ำไว้สำหรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกในช่วง 2-3 วัน ในขณะที่การเฝ้าระวังน้ำเหนือ ที่สถานี C2 นครสวรรค์  ได้คุมการระบายน้ำออกทางซ้าย และขวา ของเขื่อนไม่เกิน 200 ลบ.ม.ต่อวินาที ช่วยให้สามารถรถปริมาณน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยาได้ระดับหนึ่ง

ในขณะที่ได้ปรับการระบายน้ำท้ายเขื่อนให้มากขึ้น หรือประมาณ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อพร่องระดับน้ำหน้าเขื่อนให้ต่ำลงเพื่อให้มีช่องว่างในการรับปริมาณน้ำฝนที่อาจจะตกเพิ่ม และยืนยันว่าระดับน้ำดังกล่าว จะไม่มีการปล่อยน้ำเข้า 22 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาอย่างแน่นอน  วิธีการดังกล่าวจะเป็นทางเลือกสุดท้ายหากน้ำที่ สถานี C 29 สูงกว่า 3,500 ล้าน ลบ.ม.

“กรมฯ ติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำ 8 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ทั้งนี้ เขื่อนดังกล่าวมีปริมาณน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างฯ กรมฯ จึงต้องการประเมินการระบายน้ำเพื่อไม่ให้กระทบประชาชนอยู่ตลอดเวลา

ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่อื่นๆ ยังมีช่องว่างเพื่อรับน้ำได้อีกจำนวนมาก   ซึ่งสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ในปี 2565 อยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นน้ำใช้การได้ 2.3 หมื่นล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าปีที่ผ่านมา  7.7 พันล้าน ลบ.ม.

สำหรับปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 5.5 พันล้าน ลบ.ม.มากกว่าปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณ 1.5 พันล้าน ลบ.ม. ในขณะที่คาดว่าปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ใน 4 เขื่อนนี้  ณ วันที่ 1 พ.ย.2565 รวมประมาณ 9 พันล้าน ลบ.ม. เทียบกับปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำ 7.7 พันล้าน ลบ.ม. ดังนั้นจึงเพียงพอที่จะใช้ในช่วงแล้งปี 2566 ( 1 พ.ย.2565- 30 เม.ย.  2566 )โดยกรมชลประทานจะวางแผนบริหารจัดการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดเรียงตามลำดับความสำคัญของการใช้น้ำ คือการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร ภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น   

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...