ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
การบินไทย'เสริมทัพฝูงบินหนุนแผนฟื้นฟู-รับไฮซีซั่น
20 ส.ค. 2565

“การบินไทย” เขย่าฝูงบินรับฟื้นฟูกิจการ จ่อขายอากาศยานปลดระวางเพิ่ม 23 ลำ ล่าสุดชง “ศักดิ์สยาม” ลงนามอนุมัติล็อตแรก 5 ลำ พร้อมเสนอขอเช่าแอร์บัส 350-900 เสริมทัพไฮซีซั่นท่องเที่ยว ม.ค.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้ทราบถึงการขอแจ้งโอน (จำหน่าย) เครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) แต่ยังอยู่ในขั้นตอนที่ปลัดกระทรวงคมนาคมพิจารณาในรายละเอียด ก่อนจะเสนอมาที่ตนเพื่อพิจารณาและลงนามอนุมัติ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนในเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการบินพลเรือน ที่กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องไม่โอน จำนำ ให้เช่า หรือให้ยืมอากาศยาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ขณะนี้การบินไทยได้เสนอขออนุมัติจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงการขายสินทรัพย์ประเภทอากาศยานที่ปลดระวางแล้ว โดยขออนุมัติขายจำนวน 5 ลำ ซึ่งการบินไทยอยู่ระหว่างรอผลการอนุมัติ โดยมีเป้าหมายจำหน่ายอากาศยานเพื่อเพิ่มกระแสเงินสดในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการในขณะนี้ การบินไทยมีแผนจำหน่ายอากาศยานที่ไม่อยู่ในแผนปฏิบัติการบินของการบินไทย รวมจำนวน 34 ลำ โดยก่อนหน้านี้ได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอนุญาตให้โอน (จำหน่าย) จำนวน 11 ลำ เป็นอากาศยานแบบโบอิ้ง 737-400 ส่งผลให้ขณะนี้เหลืออากาศยานรอจำหน่ายอีก 23 ลำ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการบินไทยได้ยื่นขออนุญาตโอน (จำหน่าย) อากาศยานแบบแอร์บัส 340-500 จำนวน 1 ลำ และแบบแอร์บัส 340-600 จำนวน 4 ลำ โดยยื่นขออนุมัติต่อ กพท. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 และตามกระบวนการที่กำหนดเป็นไปตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการบินพลเรือน การขอจำหน่ายเปลี่ยนแปลงอากาศยานในฝูงบินนั้น จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงคาดว่ากระบวนการขออนุมัติจำหน่ายอากาศยานน่าจะอยู่ในกระบวนการดังกล่าว

นอกจากนี้ การบินไทยยังมีอากาศยานที่อยู่ระหว่างรอการจำหน่ายจำนวน 18 ลำ ซึ่งจะทยอยขายอย่างต่อเนื่องตามแผนฟื้นฟูที่กำหนดไว้ อีกทั้งจะมีการนำอากาศยานที่อยู่ในฝูงบินปัจจุบัน กลับมาใช้ในการปฏิบัติการบินจำนวน 5 ลำ โดยมีแผนเริ่มนำมาใช้ในการปฏิบัติการบินตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เป็นต้นไป ได้แก่ อากาศยานแบบแอร์บัส 330-300 จำนวน 3 ลำ และอากาศยานแบบโบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ

รายงานข่าว ยังระบุอีกว่า นอกจากการจำหน่ายอากาศยานที่ปลดระวางแล้ว การบินไทยยังมีแผนจัดหาอากาศยานใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการบิน โดยปัจจุบันมีแผนจัดหาอากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 จำนวน 2 ลำ ซึ่งได้ลงนามในหนังสือแสดงความสนใจ (Letter of Interest) เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 และได้ยื่นคำร้องต่อ กพท.เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอนุมัติรับอากาศยานเข้าประจำการในฝูงบิน

อย่างไรก็ดี การบินไทยมีกำหนดระยะเวลาลงนามในสัญญาเช่าอากาศยานภายใน 75 วัน นับจากวันที่ลงนามในหนังสือแสดงความสนใจ (Letter of Interest) ซึ่งการบินไทยมีแผนจะนำอากาศยานดังกล่าวมาใช้ทำการบินในช่วงเดือน ม.ค. 2566 เพื่อรองรับการขยายตัวของปริมาณผู้โดยสารในช่วงฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) และเชื่อว่าการจัดหาอากาศยานเสริมฝูงบินในครั้งนี้ จะทำให้ประสิทธิภาพทางการบินดีขึ้น สอดคล้องต่อความต้องการของผู้โดยสาร

สำหรับการจัดหาฝูงบินตามแผนฟื้นฟูกิจการที่การบินไทย ได้ยื่นขอแก้ไขเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565 มีแผนจัดหาฝูงบินในปี 2565 จำนวน 8 ลำ แบ่งเป็น อากาศยานแบบโบอิ้ง 777-200ER จำนวน 3 ลำ โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยได้มีมติให้เช่าดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 และอากาศยานที่อยู่ในฝูงบินนำกลับมาใช้ปฏิบัติการบินจำนวน 5 ลำ และในปี 2566 จำนวน 9 ลำ แบ่งเป็น อากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 จำนวน 2 ลำ และอากาศยานที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาจำนวน 7 ลำ นอกจากนี้การบินไทยยังมีแผนจัดหาฝูงบินในปี 2567 และปี 2568 จำนวน 12 ลำ และ 3 ลำ ตามลำดับ

ทั้งนี้ ปัจจุบันการบินไทยมีอากาศยานใช้งานจำนวน 68 ลำ เป็นเครื่องบินที่มีอายุน้อย มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง ประกอบกับการบินไทยยังสามารถบริหารจัดการชั่วโมงการใช้เครื่องบินโดยเฉลี่ย (Aircraft Utilization) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และตามแผนที่แน่ชัดในปีนี้ จะมีฝูงบินเข้ามาเสริมทัพจากการนำเครื่องบินเก่ามาซ่อมบำรุงและนำกลับมาใช้งานจำนวน 5 ลำ คือ โบอิ้ง 777-200 ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส A330 จำนวน 3 ลำ

ด้านนายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า การขอแจ้งโอน (จำหน่าย) อากาศยานของการบินไทย ตามแผนฟื้นฟูทราบว่าจะมีการจำหน่ายมากกว่า 30 ลำ โดยก่อนหน้านี้การบินไทยได้ขออนุมัติไปแล้วจำนวน 11 ลำ และล่าสุดได้ขออนุมัติจำหน่ายเพิ่มเติมอีก 5 ลำ ซึ่ง กพท.ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว

สำหรับสาเหตุที่การบินไทยจำเป็นต้องยื่นคำขอในการโอน (จำหน่าย) อากาศยานมายัง กพท.และกระทรวงคมนาคม เนื่องจากเป็นข้อกำหนดตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการบินพลเรือน ที่กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องไม่โอน จำนำ ให้เช่า หรือให้ยืมอากาศยาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี โดยในการอนุญาตรัฐมนตรีจะพิจารณาว่าการโอน (ขาย) อากาศยานนั้น สอดคล้องกับแผนธุรกิจที่สายการบินเสนอไว้หรือไม่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสายการบินจะมีเครื่องบินเพียงพอต่อการให้บริการต่อสาธารณะ

อย่างไรก็ดี เมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว บริษัทฯ จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก่อนจึงสามารถโอน (ขาย) อากาศยานได้ โดยข้อกำหนดเงื่อนไขแนบท้ายนี้ไม่ได้กำหนดใช้เฉพาะกับการบินไทยเท่านั้น แต่เป็นข้อกำหนดที่บังคับใช้สำหรับทุกสายการบินที่จดทะเบียนใประเทศไทย เพราะก่อนเปลี่ยนแปลงอากาศยานในฝูงบิน หากไม่สอดคล้องกับแผนธุรกิจที่สายการบินเสนอไว้ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้นจึงต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ ในการเปลี่ยนแปลงจำนวนอากาศยาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...