นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ คปภ.ได้ยื่นเรื่องไปยังศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอให้ศาลช่วยชี้แจงกรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK
ที่อยู่ระหว่างยื่นขอเข้าฟื้นฟูกิจการว่า ระหว่างนี้ขอบเขตที่บริษัทสามารถดำเนินกิจการได้นั้น ทำได้แค่ไหน เนื่องจากศาลอนุญาตให้ทางสินมั่นคงฯประกอบธุรกิจตามปกติได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. แต่ที่ผ่านมา ทางสินมั่นคงฯขอไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่ คปภ.กำหนดไว้หลายเรื่อง
“เขาไม่ทำตามหลายเรื่อง อย่างเช่น 1.ไม่หยุดรับประกันภัยรายใหม่ ทั้งที่ คปภ.ค่อนข้างเป็นห่วง ว่าถ้าเงินทุนไม่พอและเกิดแผนฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ อาจทำให้หนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะไม่มีเงินมาจ่ายประชาชน และ 2.ไม่จ่ายค่าปรับในฐานะการประวิง
แม้ว่าอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดก็ตาม คือ ตอนนี้สินมั่นคงฯ เขาค้านเรา ก็เลยไม่แน่ใจว่าที่ศาลสั่งให้ประกอบธุรกิจตามปกติ เขาตีความว่าอย่างไร ทางเราก็เลยยื่นคำร้องไปที่ศาล เพื่อให้ศาลช่วยชี้แจงว่า เขาทำอะไรได้แค่ไหน ซึ่งศาลจะนัดคุยกับเราอีกที” เลขาธิการ คปภ.กล่าว
โดยตอนนี้มี 2 เรื่องที่ คปภ.ไม่สามารถดำเนินการได้ หลังจากที่ศาลล้มละลายได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของสินมั่นคงฯ มีผลทำให้เกิดสภาวะการพักชำระหนี้ (automatic stay) คือ 1.ไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 52 แห่งกฎหมาย คปภ. สั่งหยุดรับประกันชั่วคราวได้ และ 2.ไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 59 สั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้
อย่างไรก็ดี ทาง คปภ.ก็ได้เตรียมการรองรับกรณีหากศาลไม่รับคำขอฟื้นฟูกิจการของสินมั่นคงฯไว้แล้ว คือ 1.การบังคับใช้มาตรา 52 สั่งหยุดรับประกันชั่วคราว และ 2.เข้าสู่กระบวนการสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ตามมาตรา 59
“ตอนนี้ผมเชื่อว่าแผนเพิ่มทุนของสินมั่นคงฯก็ยังไม่ชัดเจน เพราะผู้เพิ่มทุนยังชะลอรอดูความชัดเจนเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการอยู่ โดยสิ่งที่เขาจะทำคือ ต้องปรับโครงสร้างหนี้ เจรจาปรับลดหนี้ ซึ่งต้องคุยกับเจ้าหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ยินยอมแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อให้นักลงทุนอาจเข้ามาใส่เงินได้”
นายสุทธิพลกล่าวว่า สิ่งที่ คปภ.พยายามแนะนำทางบริษัทมาตลอดก็คือ การปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ควรไปรอเมื่อมีแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่ต้องไปเจรจาทำความเข้าใจกับผู้เอาประกัน ซึ่งจริง ๆ ควรเริ่มสื่อสารตั้งแต่ก่อนยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการด้วยซ้ำ
เพราะประชาชนรู้สถานการณ์แล้ว และทุกคนไม่ยอม เพราะอยากได้รับเงินตามสิทธิ ดังนั้นถึงตอนนี้อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่บริษัทจะต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้
ทั้งนี้ ยอมรับว่า คปภ.ค่อนข้างกังวลว่า หากสินมั่นคงฯไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ ภาระหนี้อีกราว 3 หมื่นล้านบาท จะตกไปอยู่กับกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจะทำให้กองทุนมีภาระหนี้รวมแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท
“กฎหมายไม่ได้เปิดให้กองทุนสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้ ขณะที่รายได้กองทุนก็มีน้อย ถึงแม้จะเพิ่มรายได้เข้ามาก็ต้องใช้ระยะเวลาหลายปีในการชำระหนี้ อย่างไรก็ดี ขอให้สิ่งที่ดีที่สุดเกิดขึ้น” เลขาธิการ คปภ.กล่าว
ก่อนหน้านี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เลื่อนกำหนดไต่สวนพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอและเจ้าหนี้ผู้คัดค้านนัดแรกออกไปเป็นในวันที่ 6, 9, 16 และ 20 ก.ย. 2565 หลังจากในวันนัดไต่สวนนัดแรก เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา มีเจ้าหนี้จำนวนมากเดินทางไปที่ศาล และพบว่ามีจำนวนเจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้านถึง 3,068 ราย ซึ่งศาลเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านในการสืบพยานหลักฐาน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา สินมั่นคงฯ ได้จัดประชุมให้ข้อมูลแก่เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หลังจากศาลเลื่อนไต่สวนออกไป
นายสุริยนต์ เจริญเศรษฐกุล รองกรรมการผู้จัดการ สำนักกรรมการผู้จัดการ บริษัท สินมั่นคงฯ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีเคลมสินไหมคงค้างกว่า 350,000 เคลม มูลหนี้รวม 30,000 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อใช้ใน 2 ส่วน คือ
1.ชำระหนี้สินไหมโควิด และปรับโครงสร้างหนี้ 2.เป็นเงินทุนเพื่อทำให้อัตราส่วนเงินกองทุน (CAR) เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งเมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว บริษัทจะกลับไปพูดคุยกับนักลงทุนถึงแนวทางการร่วมทุนและนำเงินมาชำระหนี้ โดยเมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทได้จัดหาผู้ร่วมทุนใหม่ และปัจจุบันคัดเลือกผู้สนใจเหลือ 3 ราย โดยเป็นนักลงทุนในเอเชีย 1 ราย และยุโรป 2 ราย ที่รอจะเจรจากับบริษัท ภายหลังมีความชัดเจนในการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว
“ยังมีนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศอีก 2 ราย ที่ติดต่อแสดงเจตนาสนใจร่วมทุน ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจะเปิดเผยชื่อให้รับทราบต่อไป”
นายสุริยนต์กล่าวว่า ส่วนแนวทางการชำระหนี้ค่าสินไหมโควิด 30,000 ล้านบาท ต้องมีการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ หรือปรับแนวทางการชำระหนี้ร่วมกัน รวมไปถึงอาจจะต้องแปลงหนี้ส่วนหนึ่งเป็นทุน
ซึ่งคงเป็นขั้นตอนของการเจรจาร่วมระหว่างเจ้าหนี้และนักลงทุนด้วย ว่าทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฝ่ายควรจะเป็นทางเลือกไหนในการปรับโครงสร้างหนี้
“สุดท้ายบริษัทคงจะต้องปรับโครงสร้างภายในและกลยุทธ์พอสมควร เพื่อลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และเพื่อเดินธุรกิจต่อไปให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และรองรับผู้ลงทุนรายใหม่”