นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวแอบอ้างว่ามีเมล็ดพันธุ์หรือต้นพันธุ์กัญชาพันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1 และพันธุ์กัญชาชนิดอื่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ออกจำหน่าย นั้น ขอชี้แจงว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายที่ร่วมการศึกษาวิจัยพันธุ์กัญชาไทย ยังไม่มีการจำหน่ายหรือแจกจ่ายเมล็ดและกิ่งพันธุ์แต่อย่างใด ซึ่งเมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ขณะนี้ไว้สำหรับการศึกษาวิจัย สำหรับการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์นั้น จะดำเนินการแจกจ่ายได้เมื่อมีการขึ้นรับรองพันธุ์พืชให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมล็ดพันธุ์หรือกิ่งพันธุ์ ที่ส่งมอบให้กับพี่น้องประชาชน หรือหน่วยงานที่สนใจในการปลูกกัญชาได้รับเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยการพัฒนาพันธุ์กัญชาเป็นระยะเวลา 3-4 ปี โดยร่วมศึกษาวิจัยกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมทำ MOU ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรแม่แตง และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา เพื่อพัฒนาพันธุ์กัญชาและกัญชง ให้ได้พันธุ์ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่การเพาะปลูก
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางสถาบันวิจัยสมุนไพร ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์กัญชารุ่นแรก คือ พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1 เป็นเมล็ดพันธุ์แบบ Feminized seeds หรือการควบคุมกัญชาทำให้เมล็ดเป็นเมล็ดเพศเมียร้อยละ 99 ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี ที่มีสารแคนนาบินอยด์ปริมาณสูง และสามารถนำไปขยายพันธุ์ต่อได้ ปัจจุบันได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่ร่วมศึกษาวิจัยนำไปเพาะปลูก เพื่อใช้ในการปรับปรุงพันธุ์คัดเลือกต้นพันธุ์ให้มีคุณภาพ มีสารสำคัญสูง ตรงตามลักษณะประจำพันธุ์ ซึ่งพันธุ์กัญชาดังกล่าวได้ทำการขึ้นทะเบียนพันธุ์เรียบร้อยแล้วและ จะดำเนินการศึกษาวิจัยการปลูกเพิ่มเติมเพื่อทำการรับรองพันธุ์กัญชากับกรมวิชาการเกษตรต่อไป นอกจากนี้ยังเป็น การกระจายแหล่งพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพให้กับเครือข่าย เพื่อนำไปต่อยอดในการผลิตเมล็ดพันธุ์ และกิ่งพันธุ์ให้กับประชาชนที่สนใจต่อไป
“สำหรับการศึกษาในช่วงต่อไปจะทำการส่งมอบเมล็ดพันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1 ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิลยูเอ 1 และหางเสือสกลนครทีที 1 ให้กับเครือข่ายที่ร่วมศึกษาวิจัย ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการทำเมล็ดพันธุ์ให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อการศึกษาและวิจัยต่อไป” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว