ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ครม.ไฟเขียวตั้งแผนกคดีจราจรออกใบนัดแทนใบสั่ง
07 ก.ย. 2565

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ

โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีจราจรและจัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นโดยเฉพาะต่างหากจากคดีอาญาทั่วไป

โดยกำหนดประเภทคดีที่เป็นคดีจราจร ซึ่งจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ กำหนดขั้นตอนดำเนินงานเป็นการเฉพาะสำหรับคดีจราจร โดยให้พนักงานสอบสวนออกใบนัดให้ผู้กระทำความผิดคดีจราจรไปศาล และกำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้มาตรการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดคดีจราจร นอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้น ๆ

กลุ่มที่ 1 ความผิดจราจรบางฐานที่กำหนดไว้เฉพาะ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ขับรถในระหว่างใบขับขี่ถูกพักใช้ เพิกถอน หรือหมดอายุ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจร ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด ร่าง พ.ร.บ.นี้ กำหนดห้ามไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับหรือออกใบสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่ให้ผู้นั้นไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

กลุ่มที่ 2 ความผิดอื่นที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยทางหลวง และกฎหมายว่าด้วย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยไม่รวมถึงกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หากผู้กระทำผิดไม่ยอมให้เปรียบเทียบปรับหรือไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

กลุ่มที่ 3 ความผิดนอกจากกลุ่มที่ 1 และ 2 ที่มีความร้ายแรง เช่น ความผิดฐานเมาแล้วขับ กำหนดให้สอบสวนและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตาม ป.วิ.อ. หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงแล้วแต่กรณี โดยศาลอาจกำหนดมาตรการลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้เพิ่มเติม แก่ผู้กระทำความผิดได้

ทั้งนี้ คดีจราจรกลุ่มที่ 1 และ 2 ให้พนักงานสอบสวนส่งคู่ฉบับใบนัดให้ศาลภายใน 3 วันนับแต่วันที่ออกใบนัด แต่หากผู้ต้องหายอมชำระค่าปรับ ก็ให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในวันที่มาศาล หากจำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้ แต่ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การหรือให้การปฏิเสธ ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ถ้าเพียงพอให้ศาลพิพากษาคดีทันที ถ้าไม่เพียงพอให้นัดสืบพยานต่อไป

และศาลมีอำนาจใช้มาตรการลงโทษแก่จำเลยซึ่งมีความผิดนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้น ๆ ได้ เช่น ยึด พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ให้เข้ารับการศึกษาอบรมด้านการจราจร

ในลำดับต่อไป จะส่งร่างพระราชบัญญัติให้สำนักงานคณะกรรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

น.ส.รัชดากล่าวว่า ปัจจุบันสถิติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีจราจรในแต่ละปีมีจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากผู้ขับขี่ขาดความรู้ความเข้าใจและวินัยในการใช้รถใช้ถนน ไม่เคารพปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษของกฎหมาย ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรและผลกระทบถึงความปลอดภัยต่อชีวิตร่างกายและจิตใจของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลทั่วไป

อีกทั้งมาตรการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ผู้กระทำผิดชำระค่าปรับตามกฎหมายน้อยมาก เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบสั่งต่อผู้กระทำผิดกฎจราจรเพื่อลงโทษปรับตามกฎหมาย แต่ไม่ได้กำหนดวิธีพิจารณาคดีจราจรในกรณีผู้รับใบสั่งได้โต้แย้งข้อกล่าวหา หรือเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง จึงต้องใช้กระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ทำให้มีหลายขั้นตอนและใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาคดีจราจรเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็วขึ้น

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...