ชาวมอญบ้านวังกะ นักท่องเที่ยว กว่า 3000 คน ร่วมกันปล่อยเรือ ซึ่งเป็นกิจกรรมสุดท้ายในงานบุญลอยเรือสะเดาะเคราะห์ งานบุญเดือนสิบ
วันนี้ 11 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานเจดีย์พุทธคยา (วัดวังวิเวการาม) ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ชาวมอญบ้านวังกะ พร้อมด้วยนักท่องเที่ยว รวมกว่า 3,000 คน ร่วมงานบุญลอยเรือสะเดาะเคราะห์ กลางเดือน 10 ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย ซึ่งวันนี้เป็นวันสุดท้ายของงานฯ
โดยเริ่มขึ้นด้วยด้วยการช่วยกันลากจูงเรือซึ่งทำจากไม้ไผ่ขนาด4*10 เมตร สูงกว่า 5 เมตร ที่ภายใน บรรจุอาหารคาวหวาน น้ำและผลไม้ รวมทั้งธง ตุงกระดาษ ที่ทุกคนมาใส่ไว้ในเรือ ออกจากลานหน้าเจดีย์พุทธคยา ไปยังบริเวณสามสบ จุดที่แม่น้ำสายสำคัญทั้ง 3 (ซองกาเลีย รันตี บี่คลี่ )ไหลมาบรรจบกัน ซึ่งอยู่ด้านหลังเจดีย์พุทธคยา
ก่อนจะช่วยกันชักลากเรือลงน้ำโดยใช้เรือลากจูงและใช้กำลังและความศรัทธาของชาวบ้านช่วยกันดันและรากเรือลงน้ำจนสำเร็จในที่สุด ท่ามกลางสายตานักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เช่าเหมาเรือมาติดตามชมพิธีและขั้นตอนในการปล่อยเรือ พร้อมทั้งบันทึกภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก นอกจากนั้นยังมีรายการสารคดี จากสถานีโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ มาร่วมถ่ายทำพิธีการปล่อยเรือฯในวันนี้
ส่วนการปล่อยเรือในวันสุดท้ายของงานบุญลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของชาวมอญสังขละบุรี ซึ่งตรกับแรม 1 ค่ำเดือนสิบ ของทุกปี ซึ่งเป็นงานบุญที่ทำเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นการทำทานที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากในอดีตชุมชนต่างๆมักตั้งเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำ การเดินทางก็จำเป็นต้องอาศํยเรือ-แพ ล่องไปตามสายน้ำ ซึ่งมีโอกาสที่จะประสบอุบัติเหตุเรือล่ม แล้วต้องติดค้างอยู่ริมน้ำกลางป่า เพราะฉะนั้นการที่ปล่อยเรือซึ่งภายในบรรจุ อาหาร น้ำดื่ม รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ จึงมีโอกาสที่ผู้ยากไร้ที่อาศัยอยู่ริมน้ำ รวมทั้งผู้ที่ประสบเหตุเรือ-แพ ล่มติดอยู่กลางป่า สามารถนำสิ่งของที่อยู่ในเรือนั้นมาใช้เพื่อเอาชีวิตรอดไปได้ จึงถือเป็นการทำทานที่มีอานิสงส์สูงส่ง
สำหรับความเป็นมาของประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของคนมอญ ว่ากันว่าเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้าธรรมเจดีย์ขึ้นครองราชย์ปกครองอาณาจักรมอญ เมืองหงสาวดี พระองค์ทรงเห็นพระภิกษุสามเณรในเมืองมอญหงสาวดี มีความประพฤติย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย พระพุทธศาสนาในเมืองมอญเกิดมลทินด่างพร้อยมากมาย จึงมีพระราชประสงค์จะสังคายนาพระพุทธศาสนาในเมืองมอญเสียใหม่ เพื่อชำระหมู่พระภิกษุสงฆ์ให้มีความบริสุทธิ์
พระเจ้าธรรมเจดีย์มีพระราชโองการรับสั่งให้พระภิกษุสามเณรในเมืองมอญลาสิกขาเสียทั้งหมดทั้งประเทศ แล้วทรงส่งปะขาวถือศีล 8 คณะหนึ่ง ซึ่งก็คืออดีตพระเถระผู้ทรงพระไตรปิฎก ทรงความรู้ ตั้งมั่นในศีล ที่พระองค์มีคำสั่งให้ลาสิกขามาถือศีล 8 เป็นปะขาวนั่นเอง ออกเดินทางไปยังประเทศศรีลังกา เพื่อให้ไปถือการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมาใหม่จากคณะสงฆ์ในประเทศศรีลังกา เสร็จแล้วให้เดินทางกลับมาเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ บวชให้แก่คนมอญในเมืองมอญเสียใหม่
คณะของปะขาวนี้ เมื่อเดินทางถึงประเทศศรีลังกาได้รับการอุปสมบทแล้วก็เดินทางกลับ ในระหว่างทางที่เดินทางกลับนั้น เรือสำเภาลำหนึ่งในจำนวนสองลำโดนพายุพัดให้หลงทิศไป ส่วนอีกลำหนึ่งเดินทางมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย เมื่อทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าธรรมเจดีย์ พระองค์จึงมีรับสั่งให้ทำเรือจำลองขึ้นมา ข้างในบรรจุด้วยของเซ่นไหว้บูชาเหล่าเทวดาทุกหมู่เหล่า ด้วยเครื่องเซ่นไหว้นั้น ให้เหล่าเทวดาทั้งหลาย ที่ดูแลพื้นดินก็ดี ที่ดูแลพื้นน้ำก็ดี ที่ดูแลพื้นอากาศก็ดี ได้มาช่วยปัดเป่าให้เรือสำเภาที่หลงทิศไปนั้น ได้เดินทางกลับมาโดยปลอดภัย หลังจากที่พระองค์ทรงทำพิธีสะเดาะเคราะห์แล้วไม่กี่วัน เรือที่หลงทิศนั้นก็เดินทางกลับมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย ชาวมอญจึงถือเอาเหตุการณ์นี้ทำพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ในช่วงกลางเดือน 10 ของทุก ๆ ปี สืบต่อกันมาตราบจนปัจจุบันนี้
สำหรับประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ในช่วงวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบูชาเทวดาที่อยู่ในน้ำ ในป่า และบนบก อีกทั้งเพื่อสืบสานประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มชน ตลอดทั้งเป็นการเผยแพร่ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ให้แก่ชุมชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้
กิจกรรมในงาน ได้แก่ การเจริญพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์, การบูชาเรือ โดยนำธงกระดาษ และอาหารคาวหวาน 9 อย่าง ไปบูชาเรือ, การสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ โดยการนำธูปเทียน ตามกำลังวันเกิด ไปไหว้ และสะเดาะเคราะห์เพื่อจะมีการเผาธูปเทียนในวันสุดท้ายของงาน, การเล่นโคม ปล่อยโคม, การตักบาตรน้ำตาลทราย น้ำผึ้ง, การเลี้ยงอาหารคาวหวานแก่ผู้มาร่วมงาน และการนำเรือไปลอยที่แม่น้ำสามประสบ ซึ่งเป็นกิจกรรมสุดท้ายของงานบุญลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของชาวมอญสังขละบุรี
ทีมข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์