ชาวสวนยาง 6จว.ใต้ จ่อบุกกรุง ยื่น6ข้อจี้'ประยุทธ์'แก้ #ยางพารา ตกต่ำ เรียกร้องรัฐบาล! ชาวสวนยาง6จังหวัดใต้จ่อบุกกรุง ยื่น6ข้อจี้ "นายกฯประยุทธ์" แก้ยางตกต่ำ
เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้ แถลงเรียกร้องการยางแห่งประเทศไทย และรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ผลจากนโยบายประชารัฐเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ส่งออกยางพารายักษ์ใหญ่ทำลายราคาตลาดกลาง และปล่อยข่าวยางของสถาบันไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากใช้สารแอมโมเนียสูง
ที่การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง ตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้ตอนล่าง ,ภาคใต้ตอนกลาง และภาคใต้ตอนบน รวม 6 จังหวัด เช่น ตรัง,กระบี่,สตูล,นครศรีธรรมราช ,พัทลุง และสุราษฎร์ธานี รวมประมาณ 50 คน นำโดยนายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรยางพาราภาคใต้ตอนกลาง , นายเสวก ทองเกตุ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้ตอนบน และนายอุดม ตั้งสมคิด ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้ตอนล่าง
ได้เรียกประชุมด่วน เพื่อหารือร่วมกันถึงปัญหาราคายางพาราที่กำลังตกต่ำอย่างรวดเร็วอยู่ขณะนี้ โดยราคายางแผ่นรมควันเหลือกิโลกรัมละประมาณ 58 บาท ส่วนราคาน้ำยางสดเหลือกิโลกรัมละ 46 – 47 บาท ทำให้ชาวสวนยางพาราได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เรียกร้องให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกรัฐมนตรีเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหาจำนวน 5 ข้อ
ประกอบด้วย 1. ให้รัฐบาลส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐให้ได้ 40 % ของปริมาณยางที่ออกสู่ตลาด และปรับให้มีการใช้ยางในอัตราก้าวหน้าหรือเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆปี 2.ให้ กยท.เดินหน้าโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์อย่างเร่งด่วน เพราะจัดตั้งมานานแต่ยังไม่ได้เร่งดำเนินการ 3.ให้ปรับปรุงวิธีการซื้อขายยางในตลาดกลาง โดยการประกาศราคาซื้อขายก่อนไม่ต่ำกว่า 2 ชม.ก่อนแจ้งจำนวนปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาดในแต่ละวัน เพราะในห้วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่รับซื้อยางจากตลาดกลางโดยไม่ยึดราคากลางในแต่ละวัน แต่ใช้วิธีกำหนดราคาซื้อขายเอง ซึ่งต่ำกว่าราคาในตลาดกลางกิโลกรัมละประมาณ 1 บาทหรือ 1บาทเศษ ทำให้สถาบันเกษตรกรและเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน และเป็นผลให้ราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง
4.ให้รัฐบาลทบทวนโครงการประชารัฐ ที่ให้บริษัทส่งออกยางพารารายใหญ่ติดต่อซื้อขายยางพารา กับสถาบันเกษตรกรโดยตรง เพราะหลังจากเริ่มโครงการมาพบว่า บริษัทผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ดังกล่าว ฉวยโอกาสกดราคา โดยการกำหนดราคาซื้อขายเอง โดยไม่ยึดราคาตลาดกลาง ทำให้ผลประโยชน์ไปตกกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ขณะที่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 5. ให้กยท.และรัฐบาล บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมการยางอย่างเคร่งครัด ด้วยการเรียกบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออกยางพาราทั้ง 5 บริษัท ที่จับมือกันบิดเบือนกดราคายางพาราและปล่อยข่าวยางของสถาบันเกษตรกรไม่ได้คุณภาพ เนื่องจากมีส่วนผสมแอมโมเนียสูง ส่งผลให้ราคาตกมาพูดคุยและเอาผิดตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดในทันที
และ 6.ให้รัฐบาลเร่งนำ พรบ.กยท. ตามมาตรา 49(3) เกี่ยวกับการการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน สำหรับพัฒนาสถาบันเกษตรกรมาใช้ภายในระยะเวลา 1 เดือน เพื่อสถาบันเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรได้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและพัฒนาผลผลิต
ทั้งนี้ ทางตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้ทั้งหมด จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อ ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกรัฐมนตรีภายในเร็วๆนี้