นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตลาดจีนได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของทุเรียนสดที่มีคุณภาพและมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเวียดนามเป็นประเทศที่สองที่สามารถส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้ ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะรักษาตลาดทุเรียนสดในจีนนั้น ต้องเน้นการส่งออกทุเรียนที่มีคุณภาพ มาตรฐานความเป็นทุเรียนไทยและการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยพืชตามข้อตกลงในพิธีสารการส่งออกผลไม้สดไปจีน ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตรให้ได้ทุเรียนสดที่มีคุณภาพมาตรฐาน GAP ที่ได้รับการรับรองสุขอนามัยพืชและกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับวิทยาลัยเกษตร และเทคโนโลยีชุมพร จัดโครงการ GAP เคลื่อนที่เพื่อเป็นการช่วยให้คำแนะนำ ให้ความรู้เรื่องการตัดทุเรียน การทำเกษตรแบบ GAP ซึ่งมีเกษตรกรที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการสนับสนุนคุณภาพของผัก ผลไม้ไทย ให้มีผลผลิตดี ไม่มีสารตกค้าง มีคุณภาพ ปลอดจากศัตรูพืชอีกด้วย
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ตรวจ ติดตาม ให้คำแนะนำ ล็อคซีล ก่อนการส่งออกต่างประเทศ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร 3 แห่ง โดยพื้นที่ในจังหวัดชุมพร มีแปลงที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP แล้ว 14,674 แปลง รวมเป็นพื้นที่ 106,573.9 ไร่ ผลผลิตทั้งปีกว่า 400,000 ตัน โดยตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2565 ถึงมกราคม 2566 คาดว่า จะมีผลผลิตทุเรียนคุณภาพ มาตรฐานส่งตลาดจีนได้ ประมาณ 10,000 ตัน ส่วนเป้าหมายสำคัญในการตรวจติดตามการคัดบรรจุทุเรียน กรมวิชาการเกษตรต้องการเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ตระหนักถึงการปฏิบัติตามเงื่อนไขการคัดบรรจุทุเรียนสดที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อการส่งออกไปสู่ตลาดในประเทศจีน