รัฐบาลรายงานผล "ปัญหาหนี้นอกระบบ"
การพึ่งพาการกู้ยืมเงินนอกระบบ เป็นวิธีการหนึ่งของผู้มีรายได้น้อย ที่จะทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ การจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้นอกระบบในอัตราที่สูง และบางรายยังถูกคุกคามจากการเป็นหนี้ ซึ่งรัฐบาลมีโครงการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างยั่งยืน
เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว ที่รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์” โดยกดปุ่มเปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยการแก้ปัญหาทั้งในส่วนของลูกหนี้และเจ้าหนี้ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ ด้วย 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1. การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งกระทรวงการคลังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดพระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ได้แล้วประมาณ 500 ราย มาตรการที่ 2 การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือที่เรียกว่า “ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน” ซึ่งจนถึงขณะนี้มีการปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนไปแล้วเกือบ 40,000 ราย เป็นเงินประมาณ 1,854 ล้านบาท นอกจากนี้ยังปล่อยสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับ หรือที่เรียกว่า “สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์” ซึ่งให้ประชาชนกู้ยืมเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย รวมอัตราค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียม ไม่เกินร้อยละ 3.6 ต่อปี จนถึงขณะนี้มีผู้มายื่นคำขอประกอบธุรกิจแล้ว 224 ราย ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว 58 ราย เปิดดำเนินการแล้ว 19 ราย มีความคืบหน้าในการอนุมัติสินเชื่อให้ประชาชนอย่างชัดเจน
ส่วนมาตรการที่ 3 คือการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยภาครัฐได้จัดให้การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัด ซึ่งจนถึงสิ้นเดือนเมษายน มีการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ไปแล้ว 360 เรื่อง มาตรการที่ 4 เป็นการเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ ซึ่งในส่วนนี้ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญด้วยการตั้งอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่มีมูลหนี้ค่อนข้างสูง นอกจาก 4 มาตรการที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกมาตรการหนึ่งซึ่งเป็นมาตรการสุดท้าย นั่นคือ การพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุนชนให้มีความแข็งแรง และทำหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบ โดยให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษา
จะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลในครั้งนี้ จะได้ผลอย่างยั่งยืนกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการมีกฎหมายควบคุมการเรียกอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง จะทำให้เจ้าหนี้นอกระบบไม่กล้าคิดอัตราดอกเบี้ยโหด โดยการดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมอาจต้องใช้เวลา แต่ผลที่ได้ คือส่งผลดีให้คุณภาพชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องแบกภาระในการจ่ายดอกเบี้ยนอกระบบที่โหดร้าย การทวงหนี้ที่คุกคามการใช้ชีวิตและการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างมีศักยภาพ