อย. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา เดินหน้าจัดประชุมประชาพิจารณ์ร่างกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี เน้นให้เกิดผลลัพธ์ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าของประเทศ
นายสัตวแพทย์ธนิตย์ อเนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมประชาพิจารณ์ร่างกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 ว่า การประชุมครั้งนี้จัดโดย อย. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อขอความคิดเห็นต่อร่างกรอบยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 เนื่องด้วยกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติสิ้นสุดการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2559 ดังนั้น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติร่วม ได้ทบทวนและปรับแก้กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทยให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านอาหารในปัจจุบัน รวมถึงสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
การประชุมวันนี้มีหน่วยงานจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สถาบันการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมและได้ให้ข้อคิดเห็นต่อร่างกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 อย่างกว้างขวาง โดยความคิดเห็นจากการประชุมวันนี้จะถูกรวบรวมและวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การปรับแก้ร่างกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 ให้มีความสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติต่อไป
นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้กล่าวถึง อย. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เกี่ยวกับผลการดำเนินงานขับเคลื่อนที่ผ่านมาภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ฯว่า ได้ดำเนินงานบูรณาการการดำเนินงาน เพื่อมุ่งส่งเสริมสุขภาพประชาชน และเน้นให้เกิดผลลัพธ์ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้า โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่หน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่มีบทบาทหลักในการดูแล การผลิตต้นน้ำ หรือฟาร์ม และกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่มีบทบาทหลักในการดูแลช่วงกลางน้ำ หรือการแปรรูปอาหาร และปลายน้ำ หรือสุขภาพของผู้บริโภค
นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารฯ ฉบับนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นกรอบชี้นำสำหรับหน่วยงานต่างๆ นำไปเป็นแนวทางในการวางแผนการปฏิบัติงานด้านอาหารในส่วนที่รับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่และให้ความสำคัญกับการบูรณาการการดำเนินงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ มุ่งสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
ทั้งนี้ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องดำเนินงานร่วมกันแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และกำหนดตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อประกอบการติดตามและประเมินผล อย่างไร ก็ตาม การนำกรอบยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติจะได้กำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์เป็นระยะๆ ทุก 5 ปี เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วนจัดทำแผนปฏิบัติงานและตัวชี้วัดสำหรับการติดตามประเมินผลต่อไป อันจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป