ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
อรรถยุทธ ลียะวณิช เลขาธิการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า
17 ต.ค. 2565

ชื่อของ “สถาบันพระปกเกล้า” ใครเลยจะไม่รู้จัก ยิ่งเป็นนักการเมืองหรือแม้กระทั่งผู้สนใจการเมืองด้วยแล้ว ย่อมรู้จักเป็นอย่างดี เพราะ “สถาบันพระปกเกล้า” เป็นสถาบันวิชาการชั้นนำด้านการพัฒนาประชาธิปไตยธรรมาภิบาล และสันติวิธีมุ่งนำความรู้สู่สังคมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมีหลักสูตรเปิดอบรมมาอย่างต่อเนื่อง

แต่วันนี้ ที่ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกจะพาท่านผู้อ่านมารู้จักนั้น มิใช่สถาบันพระปกเกล้า แต่คือ “สมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า” ที่ก่อตั้งขึ้นจากนักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสําหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 1, 2 และ 3จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสืบสานและดําเนินกิจกรรมต่างๆ ตามปณิธานของสถาบันพระปกเกล้าโดยมีเลขาธิการสมาคมฯ ชื่อ “อรรถยุทธ ลียะวณิช” หรือที่เรียกขานกันว่า “คุณเอียง”

อรรถยุทธ ลียะวณิช หรือคุณเอียง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในในวัย 63 ย่าง 64 คือบุคคลผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง พร้อมด้วยอดุมคติที่แน่วแน่ ด้วยคำว่า“ให้” ซึ่งคุณเอียงบอกกับเราว่า คือแนวคิดหลักตั้งแต่วัยเด็กในการดำเนินสู่เป้าหมายจนประสบความสำเร็จถึงปัจจุบัน

คุณเอียงเริ่มบอกเล่าอดีตว่า เป็นคนมีพื้นเพกำเนิดที่จังหวัดสกลนคร คุณพ่อเป็นแพทย์ รับราชการ จึงมักถูกส่งให้ไปทำงานตามจังหวัดต่างๆและเมื่อช่วงที่คุณพ่อเป็นอนามัยจังหวัดนครศรีธรรมราช คุณพ่อได้ส่งมาเรียนในโรงเรียนประจำที่กรุงเทพฯ ในระดับตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมต้น ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยหลังจากนั้นก็ไปต่อระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยอีก 2 ปีก่อนที่จะไปศึกษาจนจบปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิตที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมถึงยังได้จบวุฒิ “เนติบัณฑิตไทย” ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งนับเป็นสถาบันกฎหมายชั้นสูงสุดของประเทศ ดังเช่นคนที่ต้องการจะสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ จะต้องสอบผ่านเนติบัณฑิตไทยมาก่อนจึงจะมีสิทธิสมัครได้

คุณเอียง บอกว่า เนติบัณฑิตเป็นการศึกษาที่สูงกว่าระดับปริญญาตรี ที่จะเน้นการนำตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกามาศึกษา และประยุกต์ใช้ในการประกอบวิชาชีพ อย่างเช่น ทนายความ ผู้พิพากษา และตำรวจ

คุณเอียงยังได้เข้าศึกษาหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ปี 2551 หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นที่ (ปปร.) รุ่น 15 และ TEPCoT10 โดยคุณเอียงเล่าอีกว่า

“ผมเคยทำงานด้านทนายความ เปิดสำนักงานกฎหมายและการบัญชี นอกจากนี้ ยังได้มีโรงงานผลิตขนมไทยโบราณ ส่งให้กับโรงแรงชั้นหนึ่งทั่วกรุงเทพฯ เป็นที่ปรึกษากฎหมายบริษัทต่างๆ รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษสอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

เลขาธิการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้ายังบอกอีกว่า โดยช่วงวัยที่มากขึ้น ทำให้ปัจจุบันไม่ได้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว แต่หันไปทำงานสายสังคมมากขึ้น อาทิ ทำงานในตำแหน่งประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภคทำให้มีโอกาสได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการต่างๆ มากมาย เช่น เคยเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานปัจจุบันยังเป็นคณะกรรมการค่าจ้าง ที่เป็นมายาวนานถึง 25 ปี

ตำแหน่ง คณะกรรมการค่าจ้าง ถือเป็นคณะกรรมการไตรภาคีที่มีความสำคัญ เป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักในการพิจารณาอัตราค่าจ้างที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อภาวะ ตลาดแรงงานและสันติสุขในวงการแรงงาน เป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้ในประเทศไทยในทุกๆปี ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่มีความสำคัญอย่างยิ่งรวมทั้งยังได้เป็นตัวแทนนายจ้างของประเทศไทยสู่เวทีโลก ในการประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศมาแล้วถึง 9 ครั้งแล้วได้มีโอกาสขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ที่องค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวาอีกด้วยซึ่งคุณเอียงได้เล่าพูดถึงวิสัยทัศน์ด้านค่าจ้างเอาว่า

“ค่าจ้างคิดมาจากอะไร การที่จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ส่วนที่ 1คือดูความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้างว่าวันหนึ่งๆ จะต้องใช้อะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่ากิน ค่าเช่าบ้าน รวมถึงของอุปโภค - บริโภคต่างๆ ส่วนที่ 2 คือความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และส่วนที่ 3 คือผลิตภาพแรงงาน,GDP, อัตราเงินเฟ้อ  และสภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคว่าเป็นอย่างไร”

“ซึ่งจะมีการนำทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวมาให้คะแนน ชั่งน้ำหนัก แล้วมาประมวลก่อนคำนวณออกมาเป็นตัวเลข ว่าจะควรจะขึ้นค่าจ้างให้กับลูกจ้างทั้งประเทศเท่าไหร่ ซึ่งการขึ้นค่าจ้างก็จะมีการพิจารณาเป็นรายจังหวัด หรือกลุ่มจังหวัด กล่าวคือ ในต่างจังหวัดที่ค่าครองชีพอาจจะถูกกว่าตัวเมือง ค่าจ้างก็อาจจะขึ้นน้อยหน่อย ขณะที่ในจังหวัดที่มีเศรษฐกิจรัดตัว ค่าครองชีพสูง ก็อาจจะขึ้นค่าแรงมากหน่อย นี่ก็คือการคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย

เลขาธิการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้ายังบอกอีกว่า สำหรับค่าจ้างในปัจจุบันในประเทศไทยเป็นอย่างไรนั้น มองว่าอาจจะสูงเกินไปบ้าง เนื่องจากนายจ้างจะต้องแบกรับภาระการขึ้นค่าจ้างเกือบ 7% ซึ่งในจ้างต้องรับภาระเยอะอยู่แล้ว อาทิ เรื่องของภาษี เงินสมทบประกันสังคม ค่าธรรมเนียมต่างๆ จากภาครัฐ ที่เก็บกับนายจ้างสารพัด ส่งผลให้การดำเนินกิจการเป็นไปได้ลำบาก และต้นทุนก็จะสูงขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสเป็นกรรมการอำนวยการ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือคนพิการ คนยากไร้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยได้เป็นกรรมการอำนวยการอยู่ถึง 6 ปี ปัจจุบันก็ยังเป็นที่ปรึกษาอยู่ซึ่งผลงานที่เคยดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการอำนวยการฯ คือการจัดระเบียบการจำหน่ายสลากกินแบ่งให้กับคนพิการ คนด้อยโอกาส หรือคนยากไร้ ให้มีความเท่าเทียมกันในการรับสลากไปขายเพื่อดำรงชีวิตอยู่ทำให้ฐานะของผู้พิการและคนยากไร้ดีขึ้น

งานด้านสังคมอื่นๆ นั้น ก็ยังได้เป็นเลขาธิการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าโดยสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าก่อตั้งขึ้นเนื่องจากนักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสําหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) ในรุ่นที่ 1, 2 และ 3 ได้เห็นว่าควรจัดตั้งสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าขึ้น

ซึ่งสมาคมฯ ดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อดูแลและเป็นศูนย์รวมของผู้ที่สําเร็จการศึกษาหลักสูตรและผู้ที่กําลังศึกษา หลักสูตรต่างๆ ของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อสืบสานและดําเนินกิจกรรมต่างๆ ตามปณิธานของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้มีการดูแลศิษย์เก่าสถาบันพระปกเกล้าร่วมเกือบ 8,000คน

โดยสมาคมฯ ยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า เช่น ถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 เพื่อแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และกิจกรรมร่วมส่งมอบบ้านในโครงการ ‘สร้างซ่อมแซมบ้านประชาชน สร้างกุศลถวายพ่อของแผ่นดิน’ หลังที่ 156, 157, 158 และ 159 รวม 4 หลังที่ตำบลขมิ้น ตำบลสว่าง และตำบลบ้านโนนสะอาด จังหวัดสกลนคร และตำบลบ้านข่า จังหวัดนครพนม สร้างความปลาบปลื้มใจแก่ผู้รับมอบบ้านอย่างมากรวมถึงยังได้ จัดงาน “5 กันยา วันสถาบันพระปกเกล้า” เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า โดยได้รับเกียรติจากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับบุคคลที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นศิษย์เก่าดีเด่นประจำปี 2565

ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านร้อนหนาวมามากมาย และการทำงานที่หลากหลาย คุณเอียงได้เผอุยถึงอุดมคติในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ คือ การให้ทำให้มีสุขยิ่งกว่าการรับเพราะเรายิ่งให้จะทำให้เรามีความสุข เมื่อมีความสุขก็ทำให้เราทำอะไรก็ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

แน่นอนว่าด้วยการทำงานที่หลากหลายย่อมต้องพบอุปสรรคปัญหามากมาย ซึ่งวิธีรับมือก็คือ ต้องนิ่งและทำความเข้าใจกับปัญหากับอุปสรรคให้ท่องแท้ และค่อยๆ แก้ทีละนิด หัวใจสำคัญคืออย่าใจร้อน และค่อยๆ แก้ไขไปเรื่อยๆ ดังนั้นการแก้ปัญหาก็เหมือนกับการเล่นเกม เพราะการจะไขปัญหาต่างๆ ได้ จำเป็นต้องใช้ปัญญา ดังนั้นเราจึงควรนิ่งเพื่อให้เกิดสมาธิ เมื่อมีสมาธิ ปัญญาจะเกิดปัญหาจะใหญ่หรือเล็กก็จะสามารถแก้ได้ในที่สุด

ด้านงานอดิเรกของคุณเอียง นอกจากตีกอล์ฟและดำน้ำ ที่ถือเป็นกีฬาที่ชื่นชอบ และช่วยคลายเครียดได้ดีเสมอ อีกหนึ่งงานอดิเรกที่ชื่นชอบเป็นอย่างมาก คือการสะสมไวน์ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 2,000 กว่าขวด มีทั้งไวน์โลกเก่า โลกใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นไวน์โลกเก่าอย่างฝรั่งเศส ระดับกรองครู อีกทั้งยังได้มีโอกาสสะสมประสบการณ์ในการดื่มไวน์มาระดับหนึ่ง เนื่องจากไวน์แต่ละตัวมีความแตกต่างกันออกไปจากหลายปัจจัย เช่น พันธุ์องุ่น อายุต้นองุ่น พื้นที่ของไร่องุ่น อุณหภูมิของพื้นที่ ไวน์จึงมีหลายประเภท อาทิ สปาร์คกลิ้งไวน์ แชมเปญ ไวน์ขาว ไวน์แดง พอร์ตไวน์ ที่ใช้ดื่มในสถานการณ์แตกต่างกันออกไป รวมถึงการจับคู่อาหารกับไวน์ ก็ต้องให้ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อเพิ่มรสชาติของไวน์ให้อร่อยยิ่งขึ้น อาทิ แชมเปญเหมาะดื่มกับหอยนางรมของฝรั่ง ไวน์ขาวเหมาะกับซีฟู้ด ไวน์แดงก็จะเหมาะกับเนื้อสัตว์สีแดงๆ เช่น เนื้อแกะ เนื้อวัว เป็นต้น ด้วยความชื่นชอบและศึกษามานานจึงได้มีโอกาสไปบรรยายการดื่มไวน์ ให้กับสถาบันการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ อีกด้วย

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...