หากจะพูดถึง “ภาพยนตร์ไทย” แล้ว ผ่านสถานการณ์ลุ่มๆ ดอนๆ มาเป็นระยะ นั่นอาจเป็นเพราะมีปัญหาด้วยกันหลายด้าน แต่ที่สำคัญก็คือ “ความนิยม” ที่ได้รับจากผู้ชมชาวไทย แต่ก็ใช่ว่า ภาพยนตร์ไทยจึงถึง
จุดอับเป็นเสียทีเดียว เพราะก็มีบางเรื่อง “โด่งดัง” ได้รับความนิยมอย่างน่าอัศจรรย์ พุ่งกระฉูดทั้งในประเทศและในระดับสากลด้วย ก็คือ “องค์บาก” และ “ต้มยำกุ้ง” ที่ทำให้ชื่อ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” โด่งดังขึ้นในทันที ในฐานะ ผู้กำกับฝีมือดีของวงการภาพยนตร์ไทย
และในวันนี้ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ก็กำลังจะสร้างชื่อให้ประเทศไทยขึ้นอีกครั้ง เมื่อเขากระโดดเข้ารับเป็นผู้กำกับภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ "สายใยรักสองแผ่นดิน" เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ในปี 2568 ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
“ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ในวัย 63 ปี เปิดอกในคอลัมน์ “อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก” ว่า ตัวเขาเป็นคนพื้นเพจังหวัดอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีคุณพ่อเป็นคนอยุธยา ประกอบอาชีพผู้รับเหมา ส่วนคุณแม่เป็นคนอำเภอปากช่อง นครราชสีมา (โคราช) เป็นคนค้าขาย (ผลไม้บ้าง หลังสุดข้าวแกงบ้าง) และตอนหลังครอบครัวย้ายมาปักหลักทำมาหากินที่อำเภอเมือง มีพี่น้องด้วยกัน 5 คน และคุณปรัชญาก็เป็นคนที่ 2 และก็เป็นลูกชายคนเดียว โดยชีวิตในวัยเด็กไม่ได้ลำบากอะไรมากนัก ฐานะก็เหมือนครอบครัวชนชั้นกลางทั่วๆ ไป
ด้านการศึกษา อนุบาลที่ปากช่อง ประถมศึกษาที่โรงเรียนสุขานารี อำเภอเมือง นครราชสีมา และมาต่อชั้นมัธยมศึกษาจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนบุญวัฒนา ที่อำเภอเมือง นครราชสีมา ที่เดียวกับ “นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” อธิบดีกรมการแพทย์ คนปัจจุบัน ที่เป็นรุ่นน้อง 1 ปี หลังจากนั้นก็มาเรียนต่อในระดับอาชีวะ ปวช.และ ปวส.ที่ ที่คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
คุณปรัชญา บอกว่า ตัวเขาชอบและมุ่งมั่นที่จะเข้ามาสู่วงการทำภาพยนตร์ตั้งแต่วัยเด็กแล้ว โดยชอบวาดรูปและชมภาพยนตร์การ์ตูนจาก วอลต์ ดิสนีย์ ที่เป็นแรงบันดลใจอย่างมาก อยากเป็นคนสร้างภาพยนตร์การ์ตูน และก็มาตั้งเป้าที่จะเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ตั้งแต่เรียนสถาปัตย์ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการเรียนนิเทศ ทำภาพยนตร์ ซึ่งสมัยนั้นสถาปัตย์จุฬาฯ ดังมาก หลายคนต่อมาก็เข้าวงการบันเทิง ซึ่งก็เป็นต้นแบบที่ใฝ่ฝันของเขา
“พอจบมาผมก็เข้าสู่วงการหนัง เข้ากรุงเทพฯ เลย มีรุ่นพี่ๆ ที่เข้ามาก่อนหน้านี้ก็ทราบดีว่า ผมมีเป้าหมายอะไร ก็แนะนำผมเข้าสู่วงการบันเทิงได้เลย สัมภาษณ์ทีเดียว ก็ไปสัมภาษณ์กับคุณเอกกุลชัย กุลละวณิชย์ ตอนนั้นคุณกุลชัยจะทำรายการทีวี รุ่นพี่ก็แนะนำมีรุ่นน้องคนหนึ่งอยำทำงานด้านนี้ ฝากได้ไหม คุณเอกก็เรียกผมมาสัมภาษณ์ แล้วก็ทำเลย ตอนนั้นคุณเอกไปฝากที่บริษัทหนึ่งเป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ ชื่อบริษัท แพคช๊อท อยู่สุขุมวิท 62 ผมก็ไปเลย ก็ไปอยู่ฝ่ายศิลป์ ออกแบบฉาก”
คุณปรัชญา บอกว่า อยู่ที่ แพคช๊อท ไม่ถึงปี ก็ย้ายไปอยู่บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น หลังจากที่แพคช๊อทเป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ ให้กับอาร์เอส อยู่ที่แพคช๊อตนี่ลุยทุกอย่าง ทั้งมีช่วยออกความคิด เป็นอาร์ต ช่วยครีเอทีฟ ถ่ายภาพก็เอา ให้ทำอะไรทำหมดเลย จนช่วยกำกับ ทำอยู่ 8 เดือน ทั้งทีวี มิวสิควิดีโอ ต่อมา อาร์เอส ก็เปิดรับครีเอทีฟ ผมก็ไปสัมภาษณ์กับ เฮียฮ้อ (สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารของอาร์เอส) ก็รับเลย เพราะเคยเห็นผลงานมาบ้างแล้ว
“อยู่ที่อาร์เอสก็สนุกเลย เพราะได้ทำในสิ่งที่เราชอบ เราตั้งใจอยู่แล้ว ตอนผมเรียน ผมทำกิจกรรมจนต้องซ้ำชั้นอีกปีหนึ่ง เพราะทำกิจกรรม แล้วเราก็รู้ว่า การทำกิจกรรมมันได้ประโยชน์ มำให้เรามีประสบการณ์จริงในการทำงาน ได้รู้หลักการในการทำงาน ได้รู้การแก้ปัญหา ปกติในยุคก่อนเด็กต่างจังหวัดจะเสียเปรียบเด็กกรุงเทพฯ หลายครั้งผมรู้สึกว่า ในรุ่นเดียวกัน ผมรู้อะไรมากกว่า เพราะว่าเราเตรียมตัวมื แล้วเราสนใจจริง อยากรู้อยากเห็นกับทางด้านการผลิต ด้านโปรดักชั่น”
“เวลาดูหนังนี่ ผมชอบดูว่าฉากนี้ถ่ายยังไง เป็นพวกเทคนิคฉากพิเศษ ผมอ่าน ผมตามตลอด พอมาทำมิวสิควิโอ เลยเป็นสนามสำหรับผม บางทีผมคิดไอเดียไว้ก่อน จะถ่ายแบบนี้ พอมีเพลงในเหมาะ ผมทำเลย เวลาทำมิวสิควิดีโอ เขาส่งเพลงมา นี่เอาไปทำมิวสิควิดีโอ คือไม่ได้มี concept ไม่ได้มีอะไรมาเลย ช่วงนั้นเป็นอิสระมาก”
คุณปรัชญา ยังกล่าวถึงการทำมิวสิควิดีโอด้วยว่า มีหลายประเภท การทำเล่าเหมือนหนัง คือประเภทหนึ่งในหลายประเภท แต่ผมจะเน้นเล่าเรื่อง เน้นทำเป็นหนัง ผมให้ความสำคัญกับการฟังครั้งแรก ถ้าไม่พร้อมก็ยังไม่ฟัง ครั้งแรกมันจะลอยมาเลย เราได้เรียนรู้หลักการขาย ได้เรียนมาร์เก็ตติ้งโดยไม่รู้ตัว แล้วก็เข้าใจว่าการทำนี่มันต้องเพื่อการขาย คือได้ลองผิดลองถูกกับการทำ มิวสิควิดีโอที่ดีต้องส่งเสริมเพลง
“แล้วจากการที่บอกอิสระมาก เอาเพลงมาคิดอะไรก็ได้ก็เริ่มมรู้สึกว่า มันไม่ใช่ ควจะมีทิศทาง มีไดเร็กชั่น อย่างเช่น การทำจะต้องมีที่มาที่ไป มีเป้าหมาย มีแนวคิดว่า อัลบั้มนี้มีคอนเซ็ปอะไร มีคิดอะไร ทิศทางเป็นอย่างไร มาถ่ายทอดให้เราได้รู้ จากวันนั้นที่ผมได้โดยไม่มีอะไรแล้วไปคิด จนวันหนึ่งเรารู้สึกว่า มันต้องมีสิ มีที่ในไไปที่มา เพราะฉะนั้น ใน 9 ปีที่ผมอยู่ อาร์เอส ในไม่กี่ปีเราได้เรียกร้องหาทิศทางความชัดเจนในผลิตอัลบั้ม”
คุณปรัชญา ได้เริ่มกล่าวถึงการทำภาพยนตร์ หรือหนังว่า ตอนอยู่อาร์เอส ได้ทำอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ “รองต๊ะแล่บแปล๊บ” เรื่องที่ 2 “เกิดอีกทีต้องมีเธอ” ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนังไทยกำลังตกต่ำ มีการผลิตน้อยลง ผู้ทำหนังเริ่มหายไป โรงหนังทั่วประเทศเริ่มปิดตัวลง บางจังหวัดหายหมดเลย เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถูก โฮม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ แย้งไป หนังไทยแย่ลงเรื่อยๆ จากปีหนึ่งที่เคยผลิตออกมาเป็น 100 เรื่อง เหลือปีหนึ่งเพียง 2-3 เรื่อง คือไม่เห็นอนาคต แต่ผมก็เริ่มอิ่มตัวจากการทำมิวสิควิดีโอแล้วเช่นกัน เพราะฉะนั้น ที่อยู่มาช่วง 9 ปี ก็ลาออกจากอาร์เอส เพื่อมาทำหนัง เพราะไม่งั้นแล้วก็จะไม่ได้ทำสักที
อย่างไรก็ตาม ช่วงต่อมา ได้ชวนพี่อังเคิล ผู้กำกับที่เริ่มมาแรงในยุคนั้น ที่อยู่บริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งเป็นบริษัทคลื่นลูกใหม่ อยู่กับมาเฮียฮ้อที่เปิด อาร์เอส ฟิล์ม มาช่วยกันผลิตภาพยนตร์ไทยออกสู่ตลาดให้มากขึ้นเพิ่มพลิกฟื้น ขณะที่ตัวเขาก้าวไปเริ่มอีกแห่งที่ “เมกเกอร์เฮด” แล้วมาเปิด “บาแรมยู” ขณะที่แกรมมี่ ฟิล์ม มี “ยุทธนา มุกดาสนิท” และ “พี่อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” มาทำ “2499 อันธพาลครองเมือง” แล้วประสบความสำเร็จ ปลุกหนังไทยให้กลับมาฮือฮาได้อีกครั้ง โตมาถึง “นางนาก” ของพี่อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร” ปี 2000 ที่เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ทลายกำแพงของอุตสาหกรรมมหนังไทยถึง 2 กำแพง โดยกำแพงที่ 1 คือ เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่เก็บรายได้เกิน 100 ล้านบาท กำแพงที่ 2 คือ เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ไปขายยังต่างประเทศได้ มี “ทราย เจริญปุระ” และ “วินัย ไกรบุตร” เป็นนักแสดงนำ
“นั่นแหละถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการกลับมาฟื้นใหม่ของวงการหนังไทย แล้วก็เลยมีผู้กำกับอย่าง “เป็นเอก” เกิดขึ้นมา ผมก็ทำ "องค์บาก" มา หนังไทยก็เริ่มโตขึ้นมาเรื่อยๆ จากวันนั้นที่ผลิตได้ปีละเพียง 2-3 เรื่อง ปัจจุบัน 60 เรื่องต่อปี เป็นหนังที่ฉายโรงนะ”
คุณปรัชญา บอกอีกว่า นอกจาก ทำ หนัง ทำเพลงแล้ว เขายังปั้นศิลปินด้วย โดยศิลปินของค่าย “บาแรมยู” ก็คือ “ญ่าญ้า หญิง - รฐา โพธิ์งาม” และก็ทำหนังไปเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นก็คือ “องค์บาก” ซึ่งคุณปรัชญาบอกถึงแนวคิดที่ทำเรื่องนี้ว่า มาจากการอยากทำหนัง แอ็คชั้น อย่างมวยไทย ที่มีฉากบู้เด็ดๆ พิเศษ อย่างผู้กำกับรุ่นครู “ฉลอง ภักดีวิจิตร” ประดิษฐ์ ขับมอเตอร์ไซคลงจากเครื่อบิน หรืออย่าง “คม อัครเดช” “พยัคฆ์ยี่เก” ก็จะมีประดิษฐ์เครื่องร่อน หรือมอเตอร์ไซค์ที่ติดปีกแล้วบินขึ้นได้ แต่ผมอยากทำ “ตุ๊กตุ๊ก” มาไล่กัน แล้วก็มาเจอคุณ “พันนา ฤทิธิไกร” เป็นนักแสดงและผู้กำกับคิวบู๊ และด้วยการพัฒนาไปพัฒนามา ก็มีการแนะนำให้รู้จักกับเด็กคนหนึ่งที่พวกเขาบอกว่า มีความสามารถเหมือน “เจ็ตลี” “เฉินหลง” หรือทำได้มากกว่าด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม คุณปรัชญา ยังไม่เชื่อ และก็ไม่อยากไปก็อปปี้ฉากบู้แบบหนังจากฮ่องกง และก็ยังไม่รู้จักชื่อ “จา พนม” เสียด้วยซ้ำ แค่ยากให้คุณพันนาไปคิดฉากที่เสี่ยงชีวิตเสี่ยงตายมาขาย และต้องมีอะไรเป็นของตัวเอง ไม่ลอกเลียนแบบใคร ขณะเดียวกับที่ตอนนั้นมีโฆษณาออกมาชิ้นหนึ่งของมวยไทยที่เรียกชื่อท่วงท่าออกมาให้เห็นด้วย เลยเกิดไอเดีย เลยไปเปลี่ยนเด็กคนนั้นมาฝึกมวยไทยแล้วบันทึกเป็นวิดีโอมาให้ดู มีการบรรยายเป็นท่วงท่ามวยไทยอะไรบ้างขึ้นมา
“ผมตัดต่อออกมาให้เหลือ 5 นาที แล้วก็เอาไปให้คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ค่ายแกรมมี่ดู เราก็เลยเห็น “มีของ” นี่ พร้อมกับว่า ทำหนังแอ็คชั่นโดยใช้มวยไทยที่เห็นถึงคุณค่า แต่ไม่ต้องเป็นบนเวทีมวยนะ แต่เป็นการต่อสู้บนถนน แล้วก็มาสู่ไอเดีย การตามหาเศียรพระ ก็ช่วยกันแต่งเรื่องราวขึ้นมา เขียนเป็นบทภาพยนตร์ โดยองค์บากใช้เวลาอยู่ 2 ปี กว่าก็มาต่อด้วยเรื่อง ต้มยำกุ้ง แล้วก็ ช็อกโกแล็ต ผมคิดว่า ถึงวันนี้ ผมทำหนังมาแล้วประมาณ 70 เรื่อง หนังฉายโรงนะ”
เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน คุณปรัชญา บอกว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้น เรื่องงานโปรดักชั่น เราพัฒนามาตลอด เรื่องฝีมือดีขึ้น แต่สิ่งที่พัฒนาช้าสุดเป็นจุดบอดของเรา คือ ความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็บทภาพยนตร์ หนังดีก็มี แต่มันน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนของปริมาณที่ผลิตมาในแต่ละปี อย่างที่บอกปีหนึ่ง 60 เรื่อง แต่ที่ดีจริงๆ ยอมรับได้ไม่เกิน 10 เรื่อง ไม่ถึงครึ่ง หรือถ้าเทียบกับเกาหลี สมมุติเขาผลิตมา 100 เรื่อง เรียกว่าดีเกินครึ่ง บทภาพยนตร์เขาดี เรื่องบทยังเป็นปัญหาของบ้านเรา ส่วนผลงานในปีนี้จะเริ่มเห็นงงานออกมาปลายๆ ปี แล้วต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 2-3 เรื่อง
สุดท้ายเราถามถึงการจัดทำภาพยนตร์ “สายใยรักสองแผ่นดิน” ในวาระครบรอบ 50 ปี สัมพันธไมตรีไทย-จีน ในปี 2568 นี้ เป็นอย่างบ้าง คุณปรัชญา กล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จับมือกับมูลนิธิปัญญาวุฒิ และสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ซึ่งจะจัดทำออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ความยาว 30 นาที แนวพีเรียด โรแมนติคย้อนยุค และยังมีความต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งทีมงานต้องค้นคว้าข้อมูลย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน และต้องคัดสรรนักแสดงที่จะมารับบทให้ดูสมจริงสมจัง
โดยมี “มุก วรนิษฐ์ ถาวรวงศ์” รับบท “มาลี” แม่ครัวสาวไทย ที่เริ่มมีความสัมพันธ์กับ “เอส ชิษณุพงศ์ สกุลนันทิพัฒน์” รับบท (เฉียง) เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ผ่านเรื่องราวที่สำคัญๆ ที่อยู่บนหน้าประวัติศาสตร์นับแต่สองประเทศเริ่มมีสัมพันธไมตรีมาตั้งแต่ปี 2518 จนมาถึงปัจจุบัน 2568 ซึ่งสายใยนี้ก็เปรียบเสมือนกับสัมพภาพของไทยและจีน
“ตอนนี้เราได้ข้อมูลมาครบถ้วนแล้ว บทภาพยนตร์ก็เสร็จแล้ว ก็จะเริ่มถ่ายทำได้ในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ คือนอกจากสนุกแล้ว จะทำออกมาให้น่าดูด้วย ด้วยแนวความโรแมนติกเป็นตัวมาห่อหุ้มสัมพันธ์ไทย-จีน 50 ปีที่ผ่านมา โดยตัวหลักของเรื่องเราจะให้ผู้ชมตามนางเอกที่มีความฝันอยากจะทำอาหารจีน อยากเปิดร้านอาหารจีน มาตั้งแต่นางเอกยังทำงานอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง แล้วมารู้จักกันกับพระเอกที่เป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตจีน และเกิดผูกพันกันเล็กๆ สักช่วงเวลาหนึ่ง มีการช่วยเหลือกันจนพัฒนามาเป็นความรัก มีทั้งอุปสรรคและความสมหวังตลอด 50 ปีของคนทั้งสอง”
หนังจะเริ่มฉายภาพในปี 2518 ที่ มาลี ก็มีอายุ 18 ปี เริ่มทำงานอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง อ่านข่าว “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มเปิดสัมพันธไมตรีกับประเทศจีน ขณะที่วันหนึ่ง เฉียง ทำงานเลิกดึก ไปเจอร้านอาหารจีนร้านหนึ่งที่กำลังจะปิด แต่นางเอกก็ยอมที่จะทำอาหารให้กิน แล้วเอกพระก็บอกว่าอร่อย ขณะที่ครอบครัวยังบ่นว่านางเอกอยู่เลยว่าทำยังมีฝีมือไม่พอ ก็ทำให้ทั้งคู่ถูกใจกัน ก่อเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นที่ละนิดๆ โดยเฉียง ก็เริ่มสนใจ มาลีมากขึ้น และคอยให้ความช่วยเหลือมาตลอดโดยเฉพาะในเรื่องการทำอาหารจีน หรืออีกตอนหนึ่งที่ มาลี ได้มีโอกาสเข้าไปปรุงอาหารที่สถานทูตจีนให้กับผู้นำจีน “เติ้ง เสียวผิง” มาเยือนไทย หรือช่วงจีนมอบหมีแพนด้า แล้วก็ยังมีช่วงโควิด-19 ระบาด ที่ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือวัคซีนจากประเทศจีน
ผู้ชมจะได้รู้เรื่องราวความสัมพันธ์อันเป็นประวัติศาสตร์สอดแทรกเข้าไปอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว ผู้ชมจะได้เห็นฉากจากเด็กสาวมาสู่วัยกลางคนและมาถึงช่วงวัยในปี 2568
คุณปรัชญา บอกด้วยว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่ยากของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือโปรดักชั่น แค่การทำฉากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อันนี้ยาก เราใช้เทคนิคสมัยใหม่เข้ามาช่วยทั้ง CG และ AI ที่ทำให้ดูสมจริงสมจัง ส่วนมาลีและเฉียงมีโอกาสได้แต่งงานกันไหมและภาพยนตร์ “สายใยรักสองแผ่นดิน” จะจบในแบบไหน
ก็อย่าลืมติดตามกัน โดยคาดว่าจะสามารถนำมาฉายได้ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ...