นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มนิเวศทางทะเล ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ออกสำรวจสถานภาพแนวปะการังและปัจจัยบ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแนวปะการัง เช่น ปลา สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ตัวอ่อน โรคและภัยคุกคาม และขยะในแนวปะการัง บริเวณหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ และหมู่เกาะยาว จ.พังงา เบื้องต้น
ในการสำรวจบริเวณหมู่เกาะพีพี จำนวน 6 สถานี พบว่าแนวปะการังบางบริเวณที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์สามารถฟื้นตัวได้ดี ส่วนบริเวณที่มีการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมท่องเที่ยวอย่างหนาแน่น แนวปะการังมีความเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด
นายก้องเกียรติ กล่าวว่า แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งมีชีวิตนานาชนิด มาดำรงชีวิตภายใต้บทบาทของตนเองในระบบนิเวศ แนวปะการังจึงมีคุณค่าต่อมนุษย์และธรรมชาติในท้องทะเล ไม่ด้อยไปกว่าระบบนิเวศอื่นๆ เลย ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดคือการใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติทางทะเล ป้องกันชายฝั่งทะเล
จากคลื่น รวมทั้งเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยในด้านต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันแนวปะการังกำลังเสื่อมสภาพ ลงจากปัญหาต่างๆ ได้แก่ การประมงผิดวิธี การทิ้งสมอเรือทำให้ปะการังแตกหัก การเหยียบย่ำของนักดำน้ำที่ขาดความระมัดระวัง มลพิษต่างๆ จากกิจกรรมของมนุษย์