นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากผลสำเร็จโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงในครั้งแรก ผลปรากฎว่ามีผู้ประกอบการประมง ยังคงประสงค์ให้ภาครัฐดำเนินโครงการต่อจากเฟสแรก เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับพี่น้องชาวประมงได้ ประกอบกับในขณะนี้มีเรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 50,000 กว่าลำ ที่จดทะเบียนเรือเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะดำเนินการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเรือประมงพาณิชย์ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ จำนวน 9,593 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้มีเรือประมง จำนวน 103 ลำ ที่เพิ่งจะได้รับอนุญาตให้ทำการประมง ซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ อีกทั้ง สถานการณ์ปัจจุบันที่ต้นทุนในการทำประมงสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำประมง ดังนั้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จึงได้เร่งผลักดันโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เฟส 2
ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 มีมติ “อนุมัติ” โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เฟส 2 ภายในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และพื้นบ้านเรียบร้อยแล้ว โดยชาวประมงสามารถกู้เงินทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี และผู้ประกอบการประมงต้องจ่ายเองร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินกู้ ไม่เกิน 7 ปี นับตั้งแต่วันที่กู้ โดยรูปแบบของสินเชื่อฯ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) สินเชื่อเงินกู้ระยะสั้น เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ค่าน้ำมัน ค่าน้ำแข็ง ฯลฯ 2) สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว เพื่อเป็นเงินทุนในการไปปรับปรุงเรือ ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ทำการประมง ซึ่งธนาคารของรัฐที่เข้าร่วมโครงการฯ ภายในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้
วงเงินสินเชื่อของธนาคารออมสิน จำนวน 2,000 ล้านบาท สำหรับเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป วงเงินสินเชื่อสูงสุดสุด รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 3,000 ล้านบาท สำหรับ เรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส วงเงินสินเชื่อสูงสุดสุด รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท
สำหรับผู้ประกอบการประมงที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ ในเฟสที่ 2 จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1.เป็นบุคคลธรรมดา อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ สัญชาติไทย หรือ เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย 2.เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือ สิทธิครอบครองในเรือประมงที่มีทะเบียนเรือไทย 3.เป็นผู้ประกอบการประมงที่มีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 4.กรณีเป็นผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ต้องมีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ 5.ไม่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการได้รับใบอนุญาตทำการประมง ตามมาตรา 39 แห่งพระราชการกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และไม่เป็นผู้ที่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมายวาด้วยการประมง
หลักประกันเงินกู้เงิน ให้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างรวมกัน ดังนี้ 1.ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีหนังสือแสดงเอกสารสิทธิสามารถจดทะเบียนจำนองได้หรืออาคารชุด 2.เรือประมงที่มีการจดทะเบียนเรือไทยถูกต้องตามกฎหมาย 3.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 4.บุคคลค้ำประกัน 5.หลักประกันอื่น ๆ ตามที่ธนาคารกำหนด
หลังจากนี้ กรมประมงจะได้ดำเนินการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล ฯลฯ เพื่อหารือกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินโครงการและเร่งรัดปล่อยกู้ต่อไป.