สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์คลี่คลายและเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติประชาชนกลับเข้าที่พักอาศัยได้แล้ว ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงระดมสูบน้ำที่ท่วมขังตามถนนในหมู่บ้าน และพื้นที่การเกษตรออกสู่แม่น้ำชี ส่วนถนนทางหลวงสายกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด ผิวถนนระดับน้ำเริ่มแห้งสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ เจ้าหน้าที่เร่งซ่อมแซมให้สะดวกมากขึ้น
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมของ จ.กาฬสินธุ์ หลายพื้นที่คลี่คลายลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนส่วนใหญ่สามารถกลับเข้าที่พักอาศัยได้แล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังตามถนนในหมู่บ้าน และพื้นที่การเกษตร ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสูบน้ำที่ไหลเข้ามาตั้งแต่พนังชีขาดและท่วมขังออกสู่แม่น้ำชี
โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่พนังกั้นแม่น้ำชีบริเวณบ้านแจ้งจม ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จำนวน 14 เครื่อง จากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ อบจ.กาฬสินธุ์ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งการระบายในพื้นที่ให้ออกสู่ลำน้ำชีโดยเร็ว นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ยังได้สั่งการให้ ย้ายเครื่องสูบน้ำของศูนย์ ปภ.เขต 6 ขอนแก่น ที่มีอัตราการสูบ 50,000 ลิตร/นาที 1 เครื่อง จากเดิมติดตั้งที่บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 214 ย้ายมาติดตั้งยังบริเวณโรงสูบเก่า บ้านแจ้งจม ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย เพื่อช่วยเครื่องสูบน้ำที่อยู่จำนวน 14 เครื่อง โดยสูบระบายน้ำตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย
นอกจากนี้นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายตรีรัตน์ หนูแก้วขวัญ หัวหน้า สนง.ปภ.กาฬสินธุ์ นายณัฐพล เพียรภายลุน ปลัดอาวุโสอำเภอกมลาไสยรักษาการแทนนายอำเภอกมลาไสย ยังได้ร่วมมอบอาหารและน้ำดื่มให้กับผู้ประสบภัย จากโรงครัวของโรงพักกมลาไสย นำโดย พ.ต.อ.ธีรวุฒิ วงศาอ้วน ผกก.สภ.กมลาไสย พ.ต.ท.ประพนธ์ ภูจอมนิล รองผกก.สอบสวนสภ.กมลาไสย พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.กมลาไสย ที่ลงพื้นที่เข้ามาประกอบอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่บ้านแจ้งจม ต.เจ้าท่า
โดยนายศุภศิษย์ ระบุว่า จากการระดมระดมเครื่องสูบน้ำจากหน่วยงานต่างๆ โดยเริ่มสูบน้ำตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ลำน้ำชี ส่งผลให้ระดับน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.กมลาไสยลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณวันละ 6 – 8 เซนติเมตร ปัจจุบันประชาชนใน อ.กมลาไสยที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วม 1,284 หลังคาเรือน ทยอยกลับเข้าพักอาศัยในบ้านเรือนตนเองได้เกือบทั้งหมดแล้ว เหลืออีกเพียง 3 ครัวเรือนที่บ้านแจ้งจม ยังมีน้ำท่วมขังบ้าน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ต่ำ ส่วนพื้นที่ อ.ฆ้องชัยก็เช่นกันสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ ประชาชนกลับเข้าที่พักอาศัยได้เกือบทั้งหมดแล้ว จากถูกน้ำท่วม 866 หลังคาเรือน สำหรับพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหายจำนวน 26,158 ไร่ และด้านประมง 185 ไร่อย่างไรก็ตามคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมทั้งหมดจะเข้าสู่ภาวะปกติประมาณช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
สมบูรณ์ นาสาทร ข่าวกาฬสินธุ์รายงาน