พพ.เร่งเครื่องการอนุรักษ์พลังงาน เดินหน้าเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน EEP2022
ในทุกภาคส่วน วางเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลง 36% ในปี พ.ศ.2580 และ 40% ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) ชูให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญนำประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.เปิดสัมมนา “เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2565 - 2580 (Energy Efficiency Plan : EEP2022)” โดยเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า บ้านอยู่อาศัย เกษตรกรรม ขนส่ง ตลอดจนผู้ที่สนใจได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผน EEP2022 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนด้านพลังงานที่สำคัญภายใต้แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022)
ดร.ประเสริฐ ได้กล่าวถึงความสำคัญของแผนอนุรักษ์พลังงานว่า จากสถานการณ์วิกฤติด้านพลังงานในปัจจุบัน ทำให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นมากและส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและประชาชนในวงกว้าง ประกอบกับกระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) ซึ่งถือเป็นแผนพลังงานฉบับใหม่ที่จะพัฒนายกระดับด้านพลังงานของประเทศรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในอนาคต โดยที่แผนอนุรักษ์พลังงานถือเป็น 1 ใน 5 แผนสำคัญของแผนพลังงานชาติ ที่มีบทบาทในการทำให้ประเทศมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เราสามารถลดการนำเข้าหรือพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วย
ในร่างแผน EEP2022 ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผน EEP2018 โดยปรับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน Energy Intensity ในปี พ.ศ.2580 จากเดิม 30% เป็น 36% หรือคิดเป็นพลังงานที่คาดว่าจะลดได้ 35,497 ktoe และตลอดถึงปีพ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) มีเป้าหมายที่จะลดได้ถึง 40% หรือ 64,340 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ)โดยได้กำหนดมาตรการที่สำคัญไว้อย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกภาคส่วน ได้แก่ การกำกับดูแลตามกฎหมายโรงงาน/อาคารควบคุม เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code) การส่งเสริมมาตรฐานอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและฉลากเบอร์ 5 การส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรม Smart Farming และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคขนส่ง เป็นต้น
โดยหลังจากนี้ พพ. จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพื่อจัดทำร่างแผนอนุรักษ์พลังงานที่สมบูรณ์และทุกภาคส่วนให้การยอมรับ และขอขอบคุณทุกความคิดเห็นในเวทีฯ ครั้งนี้ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาแผนอนุรักษ์พลังงาน ที่จะนำไปใช้ให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป ดร.ประเสริฐ กล่าว