ที่สนามกีฬาโรงเรียนวัดจำปา หมู่ 1 ต.บ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี นายมนตรี คำตัน นายกเทศบาลตำบลบ้านโข้ง พร้อมชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้าน นับ 100 คน แต่งกายด้วยเสื้อแซ่ว ผ้าทอตีนจก ชุดประจำชาวลาวเวียง นุ่งผ้าซิ่น กันอย่างสวยงาน มาร่วมงานบุญข้าวเม่า เพื่อฟื้นประเพณีการตำข้าวเม่า ที่ปัจจุบันได้เลือนหายไป จากการมีประเพณีนี้กว่า 70 ปี และนอกจากนี้ยังมีการแสดงฟื้นฟูย้อนรอยการเกี้ยวสาวของหนุ่มสาว ในหมู่บ้านถิ่นนี้ ซึ่งในอดีตเป็นการละเล่น ที่หนุ่มสาว ในอดีตเคยใช้หาคู่กัน และการแสดงขั้นตอนการทำข้าวเม่า ตั้งแต่การนำรวงข้าวที่จะทำมาตาก แล้วใช้คนย่ำใช้เท้ายีเมล็ดข้าวให้หลุดจากรวง จากนั้นนำเมล็ดใส่กระด้ง นำไปขยี้ให้ขี้แมว (ผงข้าวจากการตำ) ออก นำไปจ๊วด (เพื่อฟัดให้เศษผงออก) จากนั้นน้ำเมล็ดข้าวเปลือกไปคั่วไฟอ่อนๆ พอได้ที่ก็นำมาใส่ครกไม้ ใช้ไม้ตำกัน 2 คน และมีคนคอยใช้ไม้พายอีก 1 คน ซึ่งช่วงนี้จะมีคนส่งเสียงเชียร์ สนุกสนาน รวมถึงการบรรเลวงเพลงแคน ให้คนตำและชาวบ้านร้องรำทำเพลง อย่างคึกคักแบบในอดีต หลังตำแล้ว ข้าวเม่าที่ตำจะมาพรมใส่น้ำเกลือให้นุ่ม พร้อมทั้งโรยมะพร้าวขูด และ ใส่น้ำตาลสำรำ รับประทานอย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งในงานมีการแข่งขันกินข้าวเม่า ของตัวแทนทั้ง 6 หมู่บ้าน สร้างเสียงเชียร์ให้แก่กองเชียร์อย่างสนุกสนาน
ซึ่งการตำข้าวเม่า เมื่ออดีต คนเฒ่าคนแก่ เมื่อข้าวใกล้เก็บเกี่ยว หรือ ข้าวพอเม่า ชาวบ้านก็จะนำมาตำ ทำเพื่อไว้บูชาศาล และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้าน เพื่อทำให้ผลผลิตการทำนา ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ แต่ประเพณีอันดีงามเหล่านี้ได้จางหายไป ทางชุมชนจึง ได้ร่วมกันอนุรักษ์และจัดงานฟื้นฟูขึ้นมา ซึ่งชาวบ้านบอกว่า สมัยเด็กๆได้ยินคนเฒ่า คนแก่เล่า ซึ่งคาดว่าอดีต กว่า 70 ปี ที่การทำประเพณีตำข้าวเม่าได้หายไป จนทางเทศบาลบ้านโข้ง พร้อมชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงจันทร์ บ้านจร้าเก่า ได้จัดงานนี้เพื่อสืบสานประเพณีที่ดี ทำให้คนเฒ่าคนแก่ ได้เห็นการตำข้าวเม่าแบบในอดีตอย่างมีความสุข และยังเป็นการเผยแพร่ให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าข้าวเม่าที่เราทานอร่อย กว่าจะได้มามีขั้นตอนที่ยากลำบากแค่ไหน
สันติ ชูเชิด สุพรรณบุรี