พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี/ประธานอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ไทย – สหรัฐอเมริกา (ฝ่ายไทย) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการต้อนรับผู้แทนสำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ (J/TIP Office) กต.สหรัฐฯในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศไทยประจำปี 2565
พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า น.ส.ไคทิลิน ไฮเดรริช (Caitlin Heidenreich) ผู้แทน J/TIP ของ กต.สหรัฐฯ พร้อมด้วย น.ส.รีเบคก้า ฮันเตอร์ (Rebecca Hunter) รองที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง น.ส.แอนเจไลน์ บิคเนอร์ (Angeline Bickner) ผู้ช่วยฝ่ายการเมือง น.ส. Elska Vuong ผู้ช่วยฝ่ายการเมือง และ น.ส.จันทร์เจ้า จันทร์ศิริ ฝ่ายการเมืองของสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมชมหน่วยปฏิบัติหลัก (3P) ได้แก่ ด้านการดำเนินคดี ด้านการป้องกัน และด้านการคุ้มครอง โดยสรุปดังนี้
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมภาคีเครือข่ายประชาสังคมและ TIP Report Hero ชาวไทยทั้ง 3 คน นายสมพงค์ สระแก้ว น.ส.วีรวรรณ ม็อสบี้ น.ส.อภิญญา ทาจิตต์ ให้การต้อนรับคณะเข้าเยี่ยมชมฟังบรรยายสรุปผลงานของศูนย์ ศพดส.ตร. ที่มีผลจับกุมคดีค้ามนุษย์รวม 231 คดีในปี 2565 โดยเฉพาะผลงานชุดปฏิบัติการ TICAC ที่มีสถิติจับกุมคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ท รวม 398 คดีในปี 2565 ยอดสูงสุดในรอบ 8 ปี เนื่องจากได้มีการปรับรูปแบบในการสืบสวนทางออนไลน์ และปฏิบัติการร่วมกับ NGO ควบคู่กับได้รับความร่วมมือจากผู้เสียหายเป็นพยานมากขึ้น โดยใช้แผนกลไกการส่งต่อฯ (NRM) ของรัฐบาล
ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ นำคณะเข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทําการประมง (FMC) ของกรมประมงและฟังบรรยายสรุปขั้นตอนตรวจแรงงานของศูนย์ PIPO ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) และมาตรฐานแรงงานไทย (TLS) มาตรฐานการปฏิบัติงาน ตรวจคัดกรองการบังคับใช้แรงงาน (SOP) และผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้นำคณะเยี่ยมชมสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จังหวัดปทุมธานี นำเสนอพัฒนาการความก้าวหน้าที่สำคัญ อาทิ สถิติการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย การให้ความสำคัญในการคุ้มครองช่วยเหลือที่คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหาย (Trauma Informed Care) และการพัฒนาแนวทางการให้อิสระแก่ผู้เสียหาย (Freedom of Movement) ในการเดินทางเข้าออกสถานคุ้มครอง และการใช้เครื่องมือสื่อสารสำหรับผู้เสียหายกลุ่มผู้ใหญ่
พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ เปิดเผยว่า ฝ่ายสหรัฐอเมริกาชื่นชมความก้าวหน้าของรัฐบาลในการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) ไปสู่การปฎิบัติ โดยเฉพาะโครงการสำคัญ (Flagship) อาทิ การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (ดอนเมือง) งบลงทุนราว 150 ล้านบาทเศษ การตั้งศูนย์บูรณาการคัดแยก 10 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยง การตั้งทีมสหวิชาชีพคัดกรองแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในเรือประมงในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล จำนวน 40,000 คน เป้าหมายสัมภาษณ์ครบ 100% การซุ่มคัดกรองแรงงานกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร ประธาน ปคม./ปกค. โดยได้เป็นกำลังใจ และขอบคุณเจ้าหน้าที่ “ทีมประเทศไทย” ที่ได้ทุ่มเททำงานมาตลอดทั้งปี และยังได้เน้นย้ำให้ปราบปรามอย่างเข้มงวด ห้ามมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาด เพื่อยกระดับประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นในปี 2566