คนร.ห่วงการบินไทยยังไม่พ้นวิกฤต รายได้ไม่เพิ่ม ส่วนรายจ่ายลดได้แค่ 2,000 กว่าล้านบาท จากเป้า 10,000 ล้านบาท เร่งแก้ปัญหาจัดทีมโฟกัสเฉพาะ หวังสปีดเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ด้าน “จรัมพร” ยังหวังการท่องเที่ยวช่วง “ไฮซีซั่น” ปลุกยอดขายกลับมาอีกครั้ง
นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล อนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กล่าวว่า ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปการบินไทย ซึ่งถือว่าการปฏิบัติยังน่าเป็นห่วงเพราะบริษัทฯ ยังวิกฤต เนื่องจากแผนปฏิรูปที่การบินไทยได้นำเสนอไว้แม้จะยังไม่สมบูรณ์ที่สุดแต่มีความตั้งใจและเป็นแผนที่ดีระดับหนึ่ง แต่เมื่อดำเนินการไปถึงไตรมาส 3/58 พบว่ามีหลายเรื่องที่ตัวเลขไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่ง คนร.แนะนำบอร์ดการบินไทยไปว่าจะต้องสื่อสารกับผู้บริหารและทีมงานเพื่อให้เร่งดำเนินการให้ดีขึ้น เพราะหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปบริษัทจะไปไม่รอด
ประเด็นหลักคือ การลดค่าใช้จ่าย เป้าตั้งไว้ 10% หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่ทำได้ประมาณ 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น เรื่องนี้ต้องเร่งปรับ ซึ่งทางบอร์ดและทีมบริหารน่าจะทราบปัญหา ส่วนรายได้ พบว่า Ratio การดำเนินงานต่ำกว่าเดิมเล็กน้อย ขณะที่งานบางอย่างดีขึ้น เช่น การขนส่งสินค้าพลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไรถือว่าทำได้ดีหากมีทีมที่ช่วยกันน่าจะมีโอกาสเพราะการบินไทยยังมีศักยภาพอยู่
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนปฏิรูปคืบหน้าระดับหนึ่ง แต่การเพิ่มรายได้ฝ่ายพาณิชย์ยังทไม่ได้ตามเป้า ส่วนการลดต้นทุนก็ยังทำได้ช้าเช่นกัน ซึ่งจากนี้จะเน้นใน 2 เรื่องนี้เป็นหลัก คือ เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้ได้ตามเป้า การบริหารจัดการต้องเข้มข้นขึ้นทุกระดับ ทีมใหญ่จะมาเจาะที่ 2 เรื่องนี้ ตามแผนปฏิรูปกำหนดระยะเวลาไว้ 18 เดือน ต่อจากนี้จะเร่งให้มากขึ้น การทำงานทุกเดือนต้องเร็วและได้ผลซึ่งยังพอมีเวลา
โดยการเพิ่มรายได้จะมีการปรับปรุง โดยขยายรายได้จากส่วนที่ไม่เคยขายมาก่อน เช่น ขาย Network คือขายลูกค้าที่ไม่ได้มีปลายทางของการเดินทางที่ประเทศไทย เช่น แฟรงก์เฟิร์ต-บาหลี ฝ่ายขายที่แฟรงก์เฟิร์ต ก็สามารถขายเส้นทางนี้ได้ ซึ่งจากการประเมินหากทำได้สามารถจะเพิ่มยอดขายอีกหลายเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นฝ่ายพาณิชย์ทั่วโลกจะต้องมองการขายในหลายรูปแบบให้มากขึ้นไม่ใช่มองเฉพาะจุดที่ตัวเองอยู่เท่านั้น
“ตามแผนปฏิรูปมี 6 กลยุทธ์ 21 แผน ซึ่งหลายแผน เช่น การปรับโครงสร้าง ขายเครื่องบิน ลดเที่ยวบินได้เดินหน้าไปแล้วเริ่มเป็นรูปธรรม แต่เรื่องรายได้ยังไม่เพิ่ม รายจ่ายยังไม่ลด ตอนนี้ต้องมาโฟกัสแบบเจาะเฉพาะ ทุกส่วนมีเป้าหมายในการปรับปรุงอยู่แล้ว เพียงแต่ยังทำไม่ได้ตามเป้า เพราะการทำงานยังเฉื่อยอยู่กลายเป็นบางเรื่องช่วงเริ่มต้นใช้เวลานานไปจาก 3 เดือนก็เป็น 6 เดือน 7 เดือน เลยช้า ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่า การบินไทยเป็นบริษัทใหญ่ ทุกคนรู้ว่าจะปรับอย่างไร แต่การขยับอุ้ยอ้ายไปหน่อน ปัญหาคือ คนการบินไทยไม่เคยทำอะไรมากๆ และใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ดังนั้นจะไปว่าเขาก็ไม่ได้ ซึ่งจะไม่มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายอะไรแต่จะเข้มข้นการทำงานมากขึ้น วันนี้การบินไทยยังเหมือนเดิม เดือนมกราคมเป็นอย่างไรตอนนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น” นายจรัมพรกล่าว
นายจรัมพรกล่าวว่า ปี 2559 ยังมีโอกาสเพราะเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว (High Season) ซึ่งยอดจองตั๋วล่วงหน้าดีอยู่ ขณะที่ราคาน้ำมันจะเริ่มส่งผลต่อผลประกอบการมากขึ้น เพราะต้นทุนลดลง ถือว่า “Not a bad new” โดยผลประกอบการในไตรมาส 2/2558 บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 2,986 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 12,759 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อน 5,097 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.85 บาท ปัจจัยหลักนอกจากเป็นช่ว
นอกฤดูท่องเที่ยวแล้วยังเป็นผลมาจากที่มีรายการพิเศษถึง 7,827 ล้านบาท ประกอบด้วยการดำเนินการตามแผนปฏิรูป คือการปรับลดพนักงาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายผลตอบแทนพนักงานตามโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) และ Golden Handshake จำนวน 3,722 ล้านบาท การขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 426 ล้านบาท และการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจำนวน 3,679 ล้านบาท
ขณะที่ผลประกอบการในปี 2557 ขาดทุน 15,573 ล้านบาท มากกว่าปี 2556 ซึ่งขาดทุนราว 12,000 ล้านบาท ถือว่าบริษัทประสบกับการขาดทุนมากกว่าระดับหมื่นล้านบาทต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน โดยหวังว่าแผนปฏิรูปใช้ระยะเวลา 2 ปี คือตั้งแต่ปี 2558-2559 บริษัทจะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง
ทั้งนี้แผนฟื้นฟูการบินไทยมีเนื้อหาหลักๆ 5 ประเด็น คือ 1.ปรับเส้นทางการบิน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.1 กลุ่มเส้นทางบินที่ขาดทุนอย่างแน่นอนและขาดทุนอย่างต่อเนื่องจะให้หยุดบินไปก่อน และใช้เวลา 6 เดือน 12 เดือน และ 18 เดือน ในการพิจารณาที่จะกลับมาฟื้นฟูการบินอีกครั้ง 1.2 กลุ่มเส้นทางที่ขาดทุนแต่มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ ก็ให้พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวบินลงและฟื้นฟูให้กลับมาภายใน 6-12 เดือน โดยกลุ่มนี้ยังถือเป็นกลุ่มที่ไม่แน่ใจว่าจะหยุดหรือไม่ เพราะอนาคตอาจมีศักยภาพจะใช้เวลาอีก 1 ไตรมาส ในการพิจารณาว่าจะหยุดหรือเดินหน้า
1.3 เส้นทางที่พอมีกำไรให้พัฒนาและเพิ่มการบริการ โดยเน้นเชื่อมต่อเส้นทางบินเพื่อไม่ให้ขาดช่วง แม้ว่าเป็นกลุ่มที่วันนี้ยังไม่มีกำไร แต่มีแนวโน้มทำกำไรได้ จะต้องไปปรับวิธีการดำเนินงานขายบัตรโดยสารให้ดีขึ้น และ 1.4 เส้นทางที่มีกำไร ซึ่งเปรียบเสมือนกำลังหลัก ส่วนนี้ต้องเพิ่มเที่ยวบิน เช่น ญี่ปุ่นและจีน เป็นต้น (กรณีของ 2 กลุ่มแรกที่มีการหยุดบินและลดจำนวนเที่ยวบินจะต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบ)
2.การปรับแผนการตลาด จะเน้นปรับกลยุทธ์ขายตั๋ว โดยให้เพิ่มสัดส่วนการขายตั๋วผ่านระบบออนไลน์และการจำหน่ายตั๋วเอง รวมทั้งการขยายเครือข่ายการขายตั๋วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น 3.การขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ปลดระวางเครื่องบิน 22 ลำ เพราะมีการปรับลดและเลิกเส้นทางบินจึงต้องปรับลดจำนวนเครื่องบินให้เหมาะสม ดังนั้นเครื่องบินที่ไม่เหมาะสมหรือสิ้นเปลืองน้ำมันก็ต้องปลดระวางหรือดำเนินการขายทิ้ง เพื่อช่วยลดภาระด้านการซ่อมบำรุงและค่าจอดต่างๆ 4.การปรับโครงสร้างอัตรากำลังคนจาก 2.5 หมื่นคน ให้เหลือ 2 หมื่นคน โดยยังไม่กำหนดช่วงเวลา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนการเกษียณก่อนกำหนดและแผนสมัครใจลาออก 5.การปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย เช่น กิจการโรงแรม และกิจการขนส่งน้ำมัน เป็นต้น จะต้องไปพิจารณารายละเอียดว่าส่วนใดจะโอนออกไปหรือขายอีกครั้ง