นายอาทร ดำคง ทนายความผู้รับมอบอำนาจ นายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช.เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าไปตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของเอกชนสัญชาติอังกฤษ โดยนำมาเปิดเผยข้ามประเทศ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ กฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 38 ระบุว่า การจะตรวจสอบธุรกรรมชาวต่างชาติ ต้องขออนุญาต แต่เมื่อไม่ขออนุญาตตามมาตรา 38 จึงถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ใช้อำนาจมิชอบ โดยเฉพาะการเข้าไปตรวจสอบบุคคลสัญชาติอังกฤษที่ยังไม่ถูกร้องเรียนด้วยคดีใดใด ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นนักธุรกิจที่ทำธุรกิจให้คำปรึกษาการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้เมื่อข่าวการถูกตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินถูกตีแผ่ออกไป ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่ง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศอังกฤษเขียนไว้ชัดเจนว่า ห้ามนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเปิดเผยข้ามประเทศ เพื่อคุ้มครองและปกป้องผลประโยชน์คนอังกฤษที่เข้าไปทำธุรกิจในต่างประเทศ ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้งโดยมิชอบ ขณะที่กฎหมาย ป.ป.ช.ระบุว่า ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น จะต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
อย่างไรก็ตามนายอาทร ระบุว่า ดังนั้น ป.ป.ช. กำลังจ่อการสะดุดขาตัวเองในกรณีดังกล่าว โดยเป็นการกล่าวหานายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาฯป.ป.ช.ร่ำรวยผิดปกติ อาจเจอฟ้องกลับคำสั่งลงโทษไล่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ขณะที่การตรวจสอบธุรกรรมการเงินของผู้ถูกกล่าวหา ไม่พบความผิดปกติ แต่ ป.ป.ช.กลับไม่นำเอกสารดังกล่าวเข้าสำนวนฯ และการเข้าไปตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของเอกชนสัญชาติอังกฤษ นำมาเปิดเผยข้ามประเทศ เข้าข่ายผิดกฎหมาย ป.ป.ช. ทั้งนี้จากคำสั่งของประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2565 ลงโทษไล่ นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการ ป.ป.ช.ออกจากราชการ ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ โดยตรวจสอบธุรกรรมการเงินของ นายประหยัด พวงจำปา , คู่สมรส , บุคคลเอกชนสัญชาติอังกฤษ และบริษัทต่างชาติ แม้มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ลงมติชี้มูลนั้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน (4 ต่อ 4 เสียง) แต่ปรากฏว่ามีการชี้มูลไปในทางที่เป็นผลร้ายแก่ นายประหยัด พวงจำปา นายอาทร กล่าวต่อว่า ดังนั้นในเวลาต่อมาวันที่ 15 พ.ย. 2565 ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ นาตนในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจ นายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของประธาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 ส.ค.65 ที่มีคำสั่งลงโทษไล่นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ออกจากราชการ โดย นายอาทร กล่าวว่า ตามมติการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติว่า นายประหยัด ร่ำรวยผิดปกติ และมีคำสั่งลงโทษไล่ออก เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ เช่น 1.ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของคณะกรรมการไต่สวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งขึ้น ไม่ปรากฏว่า นายประหยัด มีการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ อันจะเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด โดยทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติเป็นทรัพย์สินของคู่สมรส ซึ่งสามารถแสดงหรือพิสูจน์ถึงการได้มาซึ่งทรัพย์สินได้อย่างครบถ้วน โดยรายการทรัพย์สินต่างๆ มีทั้งในส่วนที่ถือครองแทนบุคคลอื่น เพื่อช่วยเหลือในทางธุรกิจ หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการประกอบธุรกิจในครอบครัวหรือกงสี และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนที่ นายประหยัด จะเข้ารับ ตำแหน่งรองเลขาธิการ ป.ป.ช. 2. นายประหยัดไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และตำแหน่งรองเลขาธิการฯ ที่ได้รับการแต่งตั้ง ก็ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ที่จะใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต หรือ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินที่มีการชี้มูลแต่อย่างใด 3. กรรมการ ป.ป.ช.บางราย มีส่วนได้เสียในเรื่องที่กล่าวหา มีอคติ มีความไม่เป็นกลาง และแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อกลั่นแกล้ง 4. มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ลงมติชี้มูล มีคะแนนเสียงเท่ากัน 4 ต่อ 4 เสียง แต่ปรากฏว่ามีการชี้มูลไปในทางที่เป็นผลร้ายแก่ นายประหยัด โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย นายอาทร ระบุด้วยว่า ดังนั้นการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางในครั้งนี้ เพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีของข้าราชการมิให้ถูกกลั่นแกล้ง และต้องการสร้างบรรทัดฐานในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งหากติดตามข่าวสารจะพบว่า มีหลายคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไม่ชี้มูลความผิด โดยยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชน หลายคดีที่เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล แต่เมื่อมีการฟ้องร้องต่อศาล ปรากฏว่า ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง นายอาทร ยังกล่าวถึงกรณีการตรวจสอบธุรกรรมการเงินของ นายประหยัด พวงจำปา , คู่สมรส , บุคคลเอกชนสัญชาติอังกฤษ และบริษัทต่างชาติ ซึ่งไม่พบธุรกรรมการเงินที่ผิดปกติ แต่กลับไม่นำเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นประโยชน์ในทางไต่สวนกับ นายประหยัด พวงจำปา ในคดีปกปิดทรัพย์สินเข้าสำนวนฯ ซึ่งได้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ไปปีกว่า แต่ ป.ป.ช. กลับไม่ดำเนินการอะไร โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมาตนได้เดินทางไปยื่นเรื่องนี้อีกครั้งที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ นนทบุรี โดยยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. , กรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อติดตาม เร่งรัดการดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และ น.ส.อพาลินทุ์ ลิ้มธเนศกุล กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามหนังสือที่ นายประหยัด พวงจำปา ผู้กล่าวหาร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของบุคคดังกล่าว ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งนับรวมระยะเวลาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีเศษแล้ว แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลทั้งสอง ทั้งที่มีเอกสารหลักฐานการกระทำความผิดที่ชัดแจ้ง โดยเอกสารดังกล่าวเป็นกรณีการตรวจสอบธุรกรรมการเงินของ นายประหยัด พวงจำปา , คู่สมรส , บุคคลเอกชนสัญชาติอังกฤษ และบริษัทต่างชาติ ซึ่งไม่พบธุรกรรมการเงินที่ผิดปกติ แต่กลับไม่นำเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นประโยชน์ในทางไต่สวนกับ นายประหยัด พวงจำปา ในคดีปกปิดทรัพย์สินเข้าสำนวนฯ ทนายความของอดีตรองเลขาฯป.ป.ช. ยังกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบข้อมูลของ “สืบจากข่าว” ต่อกรณีที่ ป.ป.ช. เข้าไปตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของเอกชนสัญชาติอังกฤษ นำมาเปิดเผยข้ามประเทศ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ กฎหมาย ป.ป.ช. โดยในกฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนอยู่ในสิทธิของประชาชนอยู่แล้วว่า การกระทำอื่นใดจะละเมิดสิทธิมิได้ ซึ่งในมุมมองของเอกชนชาวสัญชาติอังกฤษ เมื่อมาอยู่ในประเทศไทยก็ต้องได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายไทย ขณะที่กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 38 ระบุว่า การจะตรวจสอบธุรกรรมชาวต่างชาติ ต้องขออนุญาต แต่เมื่อไม่ขออนุญาตตามมาตรา 38 จึงถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ใช้อำนาจมิชอบ ขณะที่กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 67 ระบุว่า “ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น จะต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจนำพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน หรือพยานหลักฐานที่ได้มาจากต่างประเทศอันได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายในคดีใดคดีหนึ่ง มาใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบสำนวนการไต่สวนที่เกี่ยวข้องได้”