ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
สทนช.ดึงชุมชนร่วมแก้น้ำท่วม-แล้งอย่างตรงจุด
20 ธ.ค. 2565


ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคซ้ำซาก ที่ สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาทั้งด้านการจัดทำแผนบูรณาการตามสภาพปัญหาพื้นที่ในเชิงลึก จัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬและจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้นที่สำคัญเร่งด่วนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พร้อมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ และงานด้านประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม
ปัจจุบันที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนกว่า 5 ครั้งผ่านกิจกรรมการประชุมปฐมนิเทศและการประชุมกลุ่มย่อย โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 611 คน เพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และนำมาประกอบการจัดทำแผนบูรณาการ (Integrated Master Plan) พร้อมจัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ โดยจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566
ทั้งนี้ จังหวัดบึงกาฬ มีความต้องการใช้น้ำรวม 92.529 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยมีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรในเขตชลประทาน 0.825 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีและนอกเขตชลประทาน 8.494 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคพบว่า ความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคในปัจจุบัน 20.274 ล้านลูกบาศก์เมตร ในอนาคต 20 ปีข้างหน้าจังหวัดบึงกาฬจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 22.715 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มขึ้น 2.441 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดบึงกาฬ จึงเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ผ่านการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค การประปา และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชุมชน
ในช่วงที่ผ่านมาจังหวัดบึงกาฬประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นประจำทุกปี อีกทั้งระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูแล้ง หากมีการพัฒนาศักยภาพของบึง หนอง แหล่งน้ำต่างๆในจังหวัดบึงกาฬอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆในฤดูแล้ง จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า บึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพจำนวน 8 แห่ง ถูกนำมาพิจารณา ได้แก่ ห้วยบังบาตร หนองเชียงบุญมา หนอนนาแซง บึงขามเบี้ย หนองผักชี หนองใหญ่ หนองสามหนอง และ หนองร้อน ซึ่งหากมีการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำทั้ง 8 แห่งตามแผน จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับแหล่งน้ำได้ แม้จังหวัดบึงกาฬมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการน้ำทั้งจังหวัด แต่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน ซึ่งจำเป็นต้องมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ สร้างฝาย ระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ปรับปรุงซ่อมแซมระบบประปา และขยายเขตประปา
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริการจัดการน้ำที่ บึงโขงหลง และประตูระบายน้ำห้วยกำแพง ทั้ง 2 แห่ง นับเป็นแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดบึงกาฬ บึงโขงหลง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อ.เซกา และ อ.บึงโขงหลง มีขนาดพื้นที่ 11,494.79 ไร่ เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญของจังหวัดบึงกาฬ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ การผลิตประปา และการเพาะปลูก ซึ่ง สทนช. ได้กำหนดให้บึงโขงหลงอยู่ในกลุ่มแผนการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างเร่งด่วนให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ขณะนี้มีหน่วยงานจากภาคประชาชน ภาครัฐ และท้องถิ่น เสนอแผนงานพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว โดยที่ปรึกษาโครงการได้รวบรวมข้อมูลและนำมาเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการพัฒนาในระยะต่อไป
สำหรับประตูระบายน้ำห้วยกำแพง เป็นโครงการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและลดความเสียหายจากอุทกภัยแก่พื้นที่ในเขตอำเภอเมืองบึงกาฬ เช่น ศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ พื้นที่หน่วยราชการ พื้นที่เกษตรกรรมข้าวและพืชไร่ เนื่องมาจากระดับน้ำหลากในแม่น้ำโขงสูงในบางปี และไหลย้อนเข้าห้วยกำแพง และเข้ามาในหนองกุดทิง โดยมีระดับสูงกว่าช่วงฤดูแล้งหลายเมตร โดยกรมชลประทานรับผิดชอบก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยกำแพง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2566 ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนบูรณาการฯ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการพัฒนา จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำ ช่วยเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตน้ำอุปโภคบริโภคที่มีความขาดแคลนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...