นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวประกาศนโยบายของขวัญปีใหม่กระทรวงสาธารณสุข 2566 ปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทย
นายอนุทินกล่าวว่า ปี 2566 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะองค์กรหลักด้านสุขภาพของประเทศจึงประกาศให้ปี 2566 เป็นปีแห่ง “สุขภาพสูงวัยไทย” เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง พร้อมมอบบริการและวัสดุอุปกรณ์เพื่อการดูแลสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ เป็นของขวัญปีใหม่ตลอดปี 2566 ประกอบด้วย การคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ การจัดบริการคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทุกระดับ การมอบวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ได้แก่ แว่นสายตาจำนวน 5 แสนชิ้น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ จำนวน 5 ล้านชิ้น ฟันเทียมและรากฟันเทียม จำนวน 36,000 ราย โดยมีหน่วยบริการและเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการส่งมอบของขวัญดังกล่าวแก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศ
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานร่วมกันในการส่งมอบของขวัญปีใหม่แก่ผู้สูงอายุ โดยมอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดำเนินการคัดกรองความถดถอย 9 ด้าน ด้วย Blue Book Application ครอบคลุมผู้สูงอายุอย่างน้อย 10 ล้านคน และส่งต่อผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเข้ารับบริการในโรงพยาบาลทุกระดับที่มีคลินิกผู้สูงอายุรองรับการให้บริการ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประเมินความจำเป็นในการใช้วัสดุอุปกรณ์เพื่อการดูแลสุขภาพและจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
นายแพทย์จเด็จ กล่าวว่า สปสช.เตรียมความพร้อมสิทธิประโยชน์มอบให้ผู้สูงอายุในปี 2566 ประกอบด้วย แว่นสายตา ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับ แผ่นเสริมซึมซับการขับถ่าย ฟันเทียมและรากฟันเทียม โดยสนับสนุนงบประมาณภายใต้กองทุนต่างๆ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลสุขภาพยังมีสิทธิการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน กับโรงพยาบาลคู่สัญญาของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกแห่ง อาทิ การฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบและบาดทะยักทุก 10 ปี การประเมินความสามารถในการทํากิจวัตรประจําวัน การตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน และการคัดกรองโรคซึมเศร้า เป็นต้น รวมถึงผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ยังมีสิทธิได้รับการดูแลในชุมชนจากกองทุนระบบการดูแลระยะยาว สิทธิประโยชน์เพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้สูงอายุซึ่งดำเนินการในทุกพื้นที่ ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง มีชีวิตยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ด้าน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในปี 2565 กรมอนามัยพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) มีตำบลส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวผ่านเกณฑ์ จำนวน 7,124 ตำบล หรือร้อยละ 98.19 ซึ่งจากข้อมูลระบบ Long Term Care 3C วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 มีผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลตาม Care Plan จำนวน 387,122 คน นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อนการดำเนินงานฟันเทียมและรากฟันเทียม เพื่อให้ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันได้รับบริการใส่ฟันเทียมแบบถอดได้ และผู้ที่มีความจำเป็นต้องฝังรากฟันเทียม เพื่อรองรับฟันเทียมทั้งปากหรือเกือบทั้งปากได้รับบริการอย่างทั่วถึงด้วย