ห้องปฏิบัติการเครือข่ายด้านการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดในตัวอย่างของกลางและสารเสพติดในปัสสาวะผ่านการทดสอบความชำนาญโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เสริมสร้างความเชื่อมั่นในการรายงานผลการตรวจพิสูจน์ และคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์ยาเสพติดของประเทศไทย ยังคงปรากฏการจับกุมคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ หรือให้เจ้าหน้าที่มีหลักฐานในการดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดในตัวอย่างของกลาง วิธีการและเครื่องมือที่ใช้ต้องมีมาตรฐาน รวมทั้งบุคลากรและห้องปฏิบัติการ ต้องมีความสามารถตามมาตรฐานที่กำหนด
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ริเริ่มเป็นผู้ให้บริการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการด้านการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดในตัวอย่างของกลางและสารเสพติดในปัสสาวะ ตามระบบคุณภาพมาตรฐานสากล ISO/IEC 17043:2010 ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ห้องปฏิบัติการมีการพัฒนาทักษะความชำนาญในการตรวจพิสูจน์และดำเนินการตามระบบคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นของห้องปฏิบัติการในการรายงานผลการตรวจพิสูจน์ ซึ่งนำไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญทางอรรถคดี การบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายสถานตรวจพิสูจน์ เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทย ในปีงบประมาณ 2559 มีห้องปฏิบัติการสมาชิกจำนวน 782 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นห้องปฏิบัติการสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม มหาวิทยาลัย และกรุงเทพมหานคร
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า นอกจากการเป็นผู้ให้บริการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังเป็นหน่วยงานที่ให้การอบรมด้านวิชาการแก่ห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จากการดำเนินงานที่เป็นระบบและต่อเนื่อง ส่งผลให้ห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์สารเสพติดของประเทศไทย มีศักยภาพในการตรวจพิสูจน์สารเสพติดสอดคล้องกับมาตรฐานสากล สะท้อนให้เห็นว่าห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์สารเสพติดของประเทศไทย มีผลการตรวจพิสูจน์ที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ ซึ่งบรรลุตามเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินงาน คือการบริการประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังสนับสนุนชุดทดสอบด้านวัตถุเสพติด โดยหน่วยงานราชการที่สนใจ สามารถส่งหนังสือไปยังผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุรายละเอียดของโครงการ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ชนิดและปริมาณชุดทดสอบที่ต้องการ ซึ่งสำนักยาและวัตถุเสพติดจะพิจารณาตามความเหมาะสม และปริมาณชุดทดสอบที่สำนักยาและวัตถุเสพติดมีให้บริการได้