ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
อสม. Hub สร้างกลไกการทำงานรับมือโควิด-19
31 ธ.ค. 2565

สสส. เสริมพลัง อสม.ชุมชนวัดนันทาราม เดินหน้าโครงการ “อสม. Hub” สร้างกลไกการทำงานรับมือโควิด-19 ผ่าน “ข้อมูล-คัดกรอง-ติดตาม-ประสานงาน” เกิดการดูแลในชุมชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว 
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในกลไกที่มีความสำคัญมาก คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีส่วนในการช่วยขับเคลื่อนงานคัดกรอง ป้องกัน และดูแลผู้ป่วยติดเชื้อได้อย่างครบวงจรในทุกพื้นที่  ชุมชนวัดนันทาราม ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในชุมชนที่มีรูปแบบการดำเนินงานของหน่วยปฐมภูมิและชุมชน ต่อโควิด-19 แบบ อสม. ฮับ (Hub) ที่ประกอบด้วย ทีมข้อมูล ทีมคัดกรอง ทีมติดตามและทีมประสานส่งต่อ ทำงานในลักษณะติดตามผู้ป่วยและการประสานสิทธิการรักษาจนทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างครอบคลุม โดยการสนับสนุนจากโครงการการพัฒนารูปแบบและแนวทางการทำงาน เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนในการสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
นายโชคทวี ขัติยเทพ อสม.วัดนันทาราม กล่าวว่า โครงการ อสม. Hub  มีจุดเริ่มต้นมาจากการทำงานของชุมชน 3 แห่ง (ชุมชนวัดเกต หัวฝาย และนันทาราม) ที่มีโครงการนำร่องมาก่อนหน้านี้ ซึ่ง สสส. ได้จัดประชุมเพื่อถอดบทเรียน ให้เห็นถึงจุดแข็งกับปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน จึงได้เริ่มคิดต่อยอดและพัฒนาโครงการ  
“คำว่า Hub ของโครงการนี้ สามารถแปลได้ทั้งภาษาอังกฤษที่มีความหมายว่า "เป็นจุดศูนย์รวม" และภาษาเหนือที่มีความหมายว่า "รับ" ถือเป็นความหมายที่ดี สามารถแปลได้ว่า หากมีเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อสม. จะเป็นผู้รับดูแลทั้งหมด” นายโชคทวี อธิบาย  
อย่างไรก็ตาม แม้พื้นที่วัดนันทาราม จะมีประชากรหลายกลุ่ม ทั้ง ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ อสม. ทั้ง 24 คน ก็จะแบ่งกลุ่มกันทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ทั้ง การเก็บข้อมูลว่า มีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ไหน ติดเชื้อจากไหน หรือได้ใกล้ชิดกับใครคนอื่นอีกบ้าง ซึ่งจะรับทราบข้อมูลจากการคัดกรองของ อสม. และโรงพยาบาลที่ส่งข้อมูลมา รวมถึงให้ผู้ป่วยได้รับทราบถึงสิทธิการักษาของแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง ในช่วงแรกก็ยังพบว่าผู้ติดเชื้อบางคนก็ยังไม่รับทราบข้อมูลที่ชัดเจน จึงได้ประสานงานไปทางโรงพยาบาล จนได้สิทธิการรักษาตามระบบต่าง ๆ โดย อสม.จะดูแลติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง  
นายโชคทวี ระบุว่า ในช่วงแรกของการคัดกรองนั้น อสม. ยังมีความรู้ไม่มากนัก แต่จากการสนับสนุนของ สสส. และเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านความรู้ ชุดข้อมูล ทำให้เริ่มคัดกรองผู้ป่วยได้อย่างถูกวิธีมากขึ้น จนเริ่มเดินหน้าโครงการนี้ พร้อมยอมรับว่าการทำงานในช่วงแรก อสม.หลายคนยังมีความหวาดกลัวต่อโรคอยู่บ้าง แต่เมื่อได้รับการอบรม ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น สามารถเข้าไปตรวจสอบและสอบสวนโรคได้ทันที หลังจากที่ได้รับแจ้ง ส่วนเรื่องประสานสิทธิการรักษา ประธาน อสม.จะรับผิดชอบหลัก เพื่อให้การทำงานสะดวกและรวดเร็วขึ้น 
“เราได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี หลังจากมี อสม.เข้าไปช่วยดูแลจนหายป่วย ซึ่งมองว่าการทำงานที่ผ่านมา เป็นการทำงานด้วยใจ มีความเป็นจิตอาสา ช่วยเหลือในสิ่งที่ช่วยได้ และดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำโครงการนี้” 
ด้านนางนิตยา ชัยชนะ ประธาน อสม. วัดนันทาราม เล่าว่า ชุมชนวัดนันทาราม มี อสม.ทั้งหมด 24 คน แต่ละคนดูแลประชาชน 10 ครัวเรือน ในช่วงเวลาปกติจะต้องลงพื้นที่ดูแลสุขภาวะทุกครัวเรือน พร้อมดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 อสม. จะเป็นผู้คอยรับข้อมูลจาก สสส. หรือเทศบาล เพื่อนำมาประกอบการดูแล และให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่  
สำหรับ กลไกการทำงานของ อสม. Hub จะมีการแบ่งกลุ่ม อสม. ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่  
กลุ่มที่ 1 ทีมข้อมูล มีหน้าที่รับข้อมูล ส่งต่อข้อมูลสู่เพื่อน อสม. จัดการข้อมูลที่พร้อมส่งต่อและใช้งาน  
กลุ่มที่ 2 ทีมคัดกรอง ต้องสังเกตสถานการณ์ชุมชน คัดกรองตามกระบวนการ และรายงานผล  
กลุ่มที่ 3 ทีมติดตาม มีหน้าที่ในการติดตามเยี่ยมบ้าน กระจายความรู้ ทำความเข้าใจร่วม รายงานผลและติดตามอย่างต่อเนื่อง 
กลุ่มที่ 4 ทีมประสานส่งต่อ ทำหน้าที่ในการประสานสิทธิ์การรักษา ส่งต่อ ประสานการสนับสนุนช่วยเหลือ และรายงานผล 
กลไกการทำงานทั้งหมดนี้ มีประธาน อสม. เป็นผู้ดูแลทุกกระบวนการ โดย อสม. แต่ละคน จะได้รับการอบรมความรู้ทั้งในเรื่องของการป้องกันตนเอง การใส่หน้ากาก ไม่อยู่ในสถานที่ชุมชน เพื่อให้ดูแลครอบครัวของ อสม. ก่อน จากนั้นก็ขยายผลออกไป และจะมีการประชุม อสม. เดือนละครั้ง เพื่อรายงานผลการปฏิบัติงานไปยังเทศบาล และเตรียมรับการปฏิบัติงานใหม่ที่จะเข้ามาอีกด้วย 
ร.ต.ท.ไชยพล แสนมโน ประธานชุมชนวัดนันทาราม และเป็น อสม. ของชุมชน กล่าวถึงการทำงานของ อสม. Hub ว่า ที่ผ่านมามีผู้ป่วยติดเชื้อที่ได้รับการดูแลรักษาโดยโครงการ อสม. Hub จำนวนกว่า 50 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ อสม. ทุกคนจะได้รับการอบรม สสส. และโรงพยาบาลใกล้เคียง ทั้งการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อให้เป็นระบบมากขึ้น การสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ว่าหากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ไม่จำเป็นต้องกลัว สามารถแจ้งมายัง อสม. เพื่อประสานงานไปยังโรงพยาบาลที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา ก็พบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อหลายคนไม่ทราบถึงสิทธิในการรักษาของตนเอง อย่างเช่น สิทธิ 30 บาท รักษาทุกโรค  ซึ่ง อสม. จะเป็นผู้แจ้งสิทธิให้ทราบและประสานงานไปยังโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาตามขั้นตอนต่อไป 
ร.ต.ท.ไชยพล กล่าวด้วยว่า หลังจากที่อบรมพร้อมประกาศข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบแล้ว ผลตอบรับดีมาก ประชาชนเข้าใจเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้น ความเกรงกลัวต่อโรคก็เริ่มลดลง ให้ความร่วมมือในการรักษาหรือกักตัวเป็นอย่างดี หากมีกรณีผู้ป่วยต้องกลับมากักตัวและรักษาตัวที่บ้าน อสม. จะเป็นคนติดตามข้อมูลด้วยการโทรศัพท์สอบถามอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของอาการป่วย ความเป็นอยู่ อาหารและเวชภัณฑ์ พร้อมช่วยประสานไปยังโรงพยาบาลเพื่อจัดสรรความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ โดย อสม. จะประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อรายงานข้อมูลของผู้ป่วยในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้เกือบ 100%

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...