สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ปัจจุบันของจังหวัดนนทบุรี ค่าฝุ่นละออง PM2.5 จะสูงในช่วงการเปลี่ยนฤดูกาล โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศ ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฝุ่นละอองไม่กระจายตัว และเกิดการสะสมของมลพิษ เช่น ความเร็วลม กระแสลม และการเกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน ทำให้อากาศไม่สามารถลอยตัวขึ้นในแนวดิ่งได้เหมือนฝาชีหรือโดมครอบไว้ จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในบรรยากาศ ประกอบกับมีลมสงบ การไหลเวียนและถ่ายเทอากาศไม่ดี จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง หมอกและควัน ในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ประกาศ ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565 และกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไปค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 และตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป ให้ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) ในเวลา 1 ปี จะต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
คุณผุสดี เยี่ยมสวัสดิ์ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 6 กล่าวว่า ได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลคุณภาพอากาศรายวัน เพื่อเผยแพร่แจ้งเตือนให้ประชาชนมีการป้องกันสุขภาพอนามัย และให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 3 มกราคม 2566 เห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ประกอบด้วย แนวทางการดำเนินงาน 7 แนวทาง ภายใต้กรอบ ด้านสื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ เช่น บูรณาการข้อมูลสำหรับการสื่อสารในช่วงวิกฤต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความสับสนของประชาชน พร้อมยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เพิ่มความเข้มงวด ในการควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า เตรียมความพร้อมกำลังพล บุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา พร้อมกันนี้ได้ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุดในการแก้ไขฝุ่นละออง PM2.5