นายสมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กล่าวว่า หลังจากพบขบวนการล่าเสือโคร่งไปขาย และถูกจับกุมได้ที่เขตพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และสามารถขยายผลถึงขบวนการล่าเสือโคร่งป่าห้วยขาแข้ง จนจับกุมขบวนการได้เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ติดป่ากันชนป่าห้วยขาแข้ง
จากการสอบสวนพบว่า กระบวนการล่าเสือโคร่ง มีอยู่ 3 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากชุมชนชาวบ้านเข้าไปล่าสัตว์ รวมถึงล่าเสือโคร่งด้วย ประเด็นที่สองคือ การค้า เป็นแผลที่เกิดจากคนภายในเป็นคนค้า และประเด็นที่สามคือ การที่มีพ่อค้าคนกลางระดับประเทศ แต่ว่าเรื่องนี้เป็นการโยงใยระดับใหญ่มาก และหลายคนอาจจะพูดถึงว่าเป็นการค้าข้ามชาติด้วย
ดังนั้น ในกรณีป่าห้วยขาแข้งเองที่มีเสือโคร่งถูกล่านั้น จริงอยู่เสือโคร่งออกไป “นอกบ้าน” แต่คำว่า “นอกบ้าน” นั้นก็เป็นป่าเดิมที่เสือเคยอาศัยอยู่ ซึ่งต่อไปต้องเข้มงวดในการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ต้องเพิ่มความเข้มข้นต่อพื้นที่พิเศษให้มากยิ่งขึ้นไป อาจจะต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยด้วย ซึ่งเราก็พยายามวางแผนเพิ่มเติมอยู่
ส่วนเรื่องพื้นที่ต่อเนื่องที่ไม่ใช่พื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เช่น ในกรณีนี้เป็นเรื่องขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ที่อนุญาตให้ชุมชนเข้าไปใช้ภายใต้ความร่วมมือ คงต้องคุยกันต่อเนื่อง ประการที่สาม เราเห็นว่าการคุ้มครองสัตว์ป่า รวมถึงเสือโคร่ง คงไม่ได้มีเฉพาะในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง ต่อไปคงต้องขยายความเข้มงวดไปถึงป่าชุมชน หลังจากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วก็คุยกับฝ่ายตำรวจ ทหาร ชุมชน ว่าจะทำอย่างไรดี
ประการต่อมาคือ การสร้างจิตสำนึกของคน ซึ่งทั่วไปคงเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านรักษาการอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชให้แนวคิดว่า วันนี้จำเป็นที่จะต้องบูรณาการจากหลายๆ กระทรวงในเรื่องความเป็นอยู่ของชุมชนที่อยู่รอบรอบป่าห้วยขาแข้ง ทำอย่างไรจะให้ชุมชนเข้มแข็ง ทำอย่างไรเขาอยู่ได้พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้เขามาล่าสัตว์ป่าเป็นประเด็นสำคัญมาก ที่ทางอธิบดีกรมสัตว์ป่ากรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ความสำคัญอย่างสูง