กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ เห็นชอบ 5 แผนดำเนินงานด้านสมุนไพรปี 2566-2570 และเห็นชอบรายการสมุนไพร Herbal Champion กลุ่มมีความพร้อม 3 รายการ “ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระชายดำ”
กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ เห็นชอบ 5 แผนดำเนินงานด้านสมุนไพรปี 2566-2570 และเห็นชอบรายการสมุนไพร Herbal Champion กลุ่มมีความพร้อม 3 รายการ “ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระชายดำ” และกลุ่มมีศักยภาพสามารถผลักดันได้อีก 12 รายการ พร้อมรับทราบแนวทาง 3 ด้านพัฒนาสินค้า “ขมิ้นชัน” เพิ่มมูลค่าส่งออก
ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายแพทย์ประพนธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.แผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งมีทั้งหมด 5 แผน 5 ยุทธศาสตร์ โดยคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ได้แก่ คณะอนุกรรมการวัตถุดิบสมุนไพร, คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร, คณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร, คณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพร และคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์สมุนไพรแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 73 โครงการ รับงบประมาณสนับสนุนมากกว่า 260 ล้านบาท และ 2.เห็นชอบรายการ Herbal Champion 15 สมุนไพร ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งมีแนวทางการกำหนดรายการสมุนไพร Herbal Champion โดยดำเนินการวิเคราะห์ทุก 2 ปี หรือที่เหมาะสมเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้คัดเลือก Herbal Champion โดยใช้แนวทางการวิจัยการจัดลำดับความสำคัญ โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสมุนไพร
สำหรับผลของการคัดเลือก Herbal Champion แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 สมุนไพรที่มีความพร้อมตามห่วงโซ่การพัฒนาสมุนไพร Herbal Champion จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และกระชายดำ และกลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีศักยภาพในการผลักดันให้เป็นสมุนไพร Herbal Champion จำนวน 12 รายการ ได้แก่ กระชายขาว มะขามป้อม ไพล กวาวเครือขาว ขิง กระท่อม ว่านหางจระเข้ บัวบก มะระขี้นก กัญชง กัญชา และเพชรสังฆาต โดยจะจัดทำประกาศคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ เรื่อง สมุนไพร Herbal Champion ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 และจัดทำแผนพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสมุนไพร Herbal Champion ต่อไป
นพ.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังรับทราบรายงานการศึกษา เรื่อง “โอกาสทางการค้าสินค้าสมุนไพรไทย กรณีศึกษา: สินค้าขมิ้นชัน” โดยกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ตลาดโลกมีมูลค่าการส่งออกขมิ้นชันถึง 366.78 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดียส่งออกสูงสุด 225.54 ล้านเหรียญฯ คิดเป็น 61.5% การนำเข้ามีมูลค่า 382.96 ล้านเหรียญฯ โดยสหรัฐอเมริกานำเข้าสูงสุด 62.74 ล้านเหรียญฯ คิดเป็น 16.4% ส่วนตลาดประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกขมิ้นชัน 2.97 ล้านเหรียญฯ ส่งออกไปอินเดียมากที่สุด 1.9 ล้านเหรียญฯ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.19 ล้านเหรียญฯ นำเข้าจากเมียนมามากที่สุด 7.78 แสนเหรียญฯ และแม้ไทยจะมีราคาส่งออกต่อหน่วย 2,244 เหรียญฯ/ตัน สูงกว่าราคาต่อหน่วยของโลก (1,612 เหรียญฯ/ตัน) แต่ไทยยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาและเพิ่มมูลค่าขมิ้นชันได้ เช่น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรและการแปรรูปขมิ้นชัน เป็นต้น โดยอาจศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าขมิ้นชันจากประเทศผู้ส่งออกที่มีราคาส่งออกต่อหน่วยสูง เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยมีข้อเสนอ 3 ด้านเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า คือ 1.ด้านการเพาะปลูก โดยส่งเสริมเกษตรกรไทยปลูกขมิ้นชันเป็นพืชทางเลือกสร้างรายได้ สร้างมาตรฐานตั้งแต่การเพาะปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม ส่งเสริมความรู้การปลูกขมิ้นชันให้มีระดับราคาดี ปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้และส่งเสริมให้มีการปลูกตามแผนที่ความเหมาะสมของที่ดิน (Agri-map) 2.ด้านการแปรรูปและการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าจากประเทศส่งออกที่มีราคาต่อหน่วยสูง สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับระบบตรวจสอบย้อนกลับ ส่งเสริมผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนให้เข้าถึงเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมการผลิตสารสกัดขมิ้นชันที่ได้มาตรฐานเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรม เชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยกับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการ และผลักดันให้เกิดการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าสมุนไพร และ 3.ด้านการตลาด โดยเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันสมุนไพรแปรรูปอื่นๆ กับภาคท่องเที่ยว ส่งเสริมตลาดภายในประเทศเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้ประกอบการ กระจายและเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปตลาดอื่นๆ และติดตามแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง