ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
นายกฯ สั่งติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นค่ารถแท็กซี่
17 ม.ค. 2566


นายกฯ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่ หากจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ให้เร่งดำเนินการและเสนอเพื่อพิจารณาโดยเร็ว พร้อมรับรู้ถึงความเดือดร้อนของคนขับรถแท็กซี่ที่ไม่ได้ปรับค่าโดยสารมากว่า 8 ปีแล้ว

ตามที่ได้มีประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกโดยสาร และค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน ที่จดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยประกาศดังกล่าว เป็นการให้ยกเลิกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI – METER) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร ประกาศ ณ วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงคมนาคมฯ พ.ศ. 2565 จะเริ่มมีผลบังคับให้มีการจัดเก็บค่าโดยสารแท็กซี่อัตราใหม่ ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2566 เป็นต้นไปนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามและมีความห่วงใยประชาชนที่โดยสารรถแท็กซี่ที่อาจมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารดังกล่าว

“แม้การปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารจะช่วยให้คนขับแท็กซี่มีรายได้ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีก็ยังเป็นห่วงประชาชนที่โดยสารรถแท็กซี่ ที่อาจมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น จึงได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ติดตามผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวมจากการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารดังกล่าว และเสนอแนะมาตรการทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ดังกล่าวต่อไปโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่าน” นายอนุชาฯ กล่าว

นายกรัฐมนตรีรับรู้ถึงความเดือดร้อนของคนขับรถแท็กซี่ ซึ่งถือว่าเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์ราคาพลังงานและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นด้วย ในขณะที่ค่าจ้าง/ค่าโดยสารรถแท็กซี่ ไม่ได้มีการปรับขึ้นมาเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว จึงเป็นที่มาของการปรับค่าโดยสารในครั้งนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มคนขับแท็กซี่ มีรายได้เพียงพอกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปกำกับดูแลเพิ่มเติมว่า เมื่อขึ้นราคาค่าโดยสารแท๊กซี่แล้ว  ก็ต้องปรับปรุงคุณภาพการบริการให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะต้องเข้มงวดในเรื่องมารยาทของคนขับรถ ความปลอดภัย ความสะอาด ไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร  และต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด หากพบว่าแท็กซี่กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายที่กำหนดในเรื่องบทลงโทษต่อไปโดยไม่ละเว้น

โดยรายละเอียดของประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกโดยสาร และค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 บางส่วนระบุถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร สำหรับ (1) กรณีรถยนต์รับจ้าง ที่มีลักษณะเป็นรถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน และรถยนต์นั่งสามตอนแวน ให้กำหนด ดังต่อไปนี้

ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 40.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 7.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท

ส่วนกรณีรถยนต์รับจ้าง นอกจากข้อ (1) ให้กำหนด ดังต่อไปนี้
ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 7.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท

นอกจากนี้ กรณีรถตาม (1) หรือ (2) ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้กำหนดอัตรานาทีละ 3.00 บาท ส่วนกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เรียกเก็บค่าบริการอื่นเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท และกรณีการจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยรถยนต์รับจ้างนั้น จอดรอคนโดยสารอยู่ในท่าอากาศยาน ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เรียกเก็บค่าบริการอื่นเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 50 บาท

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...