พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ที่กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนและผลักดันมาตลอดในระยะสองปีที่ผ่านมา ปัจจุบันพบว่า มีเกษตรแปลงใหญ่ทั้งประเทศ 2,138 แปลง รวมพื้นที่ 3.10 ล้านไร่ เกษตรกร 225,010 ราย จำนวน 67 ชนิดสินค้า ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประเมินผลการดำเนินการพบว่า เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 992 - 1,565 บาท/ไร่ และหนึ่งในตัวอย่างพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่เห็นผลชัดเจน คือ เกษตรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน อ.สิเกา จ.ตรัง ที่มีการผลิตในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมตาม Agri-Map มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดใน จ.ตรัง พื้นที่ 44,074 ไร่ โดยเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนการปลูกปาล์มแบบเดิมมารวมกันจัดตั้งกลุ่มในรูปวิสาหกิจชุมชน "กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน กลุ่มสิเกา-วังวิเศษ" มีสมาชิก 99 ราย พื้นที่ 182 แปลง มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,756 ไร่ เป็นลักษณะเกษตรแปลงใหญ่ และได้นำระบบ RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) มาใช้ คือ การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน โดยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรองค์ความรู้ที่จำเป็นแก่เกษตรกร ซึ่งมีฐานเรียนรู้ 3 ฐาน คือ 1) การจัดการสวนปาล์มน้ำมันก่อนให้ผลผลิต 2) การจัดการสวนปาล์มน้ำมันช่วง 10 ปีแรกของการปลูก และ 3) การจัดการสวนปาล์มน้ำมันช่วง 10 ปีหลังของการปลูก
โดยผลการดำเนินการทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน อาทิ ค่าปุ๋ย ที่ได้ปุ๋ยอินทรีย์จากโรงงาน เช่น ทะลายปาล์ม/ขี้เค้ก ในอัตราอย่างน้อยไร่ละ 1 ตัน ลดต้นทุนได้ไร่ละ 1,000 บาท มีการตรวจดินเบื้องต้นเพื่อจัดทำเป็นปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งปุ๋ยสั่งตัดราคาถูกกว่าปุ๋ยทั่วไป 5 บาท/กก. ซึ่งจะใช้ปุ๋ยไร่ละ 264 กก. สามารถลดต้นทุนปุ๋ยได้ ไร่ละ 1,320 บาท ขณะเดียวกัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยก่อนเข้าร่วมเกษตรแปลงใหญ่ มีผลผลิตเฉลี่ย 3.2 ตัน/ไร่/ปี หลังเข้าร่วมโครงการ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 ตัน/ไร่/ปี คิดเป็นร้อยละ 31 ผลผลิตเพิ่มขึ้นไร่ละ 4,000 บาท และจากการเข้าร่วมตามมาตรฐาน RSPOราคาเพิ่มขึ้น 0.15 บาท/กก. เพิ่มขึ้นไร่ละ 630 บาท รวมแล้ว ใน 1 ไร่ ลดต้นทุนได้ 2,320 บาท เพิ่มราคาผลผลิตได้ 4,630 บาท รวมแล้วเกษตรมีเงินเพิ่ม 6,950 บาท/ไร่/ปี
"เกษตรแปลงใหญ่หรือ Collaborative Farming ที่หลายๆ ประเทศกำลังนำมาใช้ในเร็วๆ นี้ เช่น ประเทศไอร์แลนด์ และ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อแก้ปัญหาภาคการเกษตรในด้านโครงสร้างแรงงาน การรวมกลุ่มซื้อปัจจัยการผลิต การถ่ายทอดความรู้ การใช้เทคโนโลยีร่วมกัน และ การบริหารจัดการ/การตลาด ซึ่งต้องทำงานร่วมกัน ทำการเกษตรที่สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และ ผลผลิตมีคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์ 2 ข้อ คือ 1. เกษตรกรมีรายได้เพียงพอ/มีเกียรติความภาคภูมิใจ 2. มีสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพที่ตรงความต้องการผู้บริโภคนั้น ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างจริงจังมาแล้วสองปี และจะเริ่มผลักดันให้เกิดมากขึ้นต่อเนื่อง โดยขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มเห็นผลที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งสะท้อนได้ว่านโยบายเดินมาถูกทางแล้ว โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า กระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะมีเกษตรแปลงใหญ่ไม่น้อยกว่า 25 ล้านไร่ ร่วมกันผลักดันเกษตรแปลงใหญ่ หรือ Collaborative Farming เพื่อเกษตรกรคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย และ เพื่ออาหารที่มีคุณภาพความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว