เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และเสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วออกหนังสือสั่งการ หรือ หนังสือเวียน กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนไว้อย่างกว้างๆ เพื่อให้หน่วงงานในสังกัดได้ให้ผู้กำกับสถานศึกษาดูแลและกำหนดสถานศึกษา นำหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไปกำหนดระเบียบเป็นข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง
โดย รมว.ศธ. ได้กล่าวว่า ศธ. ได้ยกร่างแนวนโยบายเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนในถานศึกษา ดังต่อไปนี้
1.การไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. และสถานศึกษากำกับดูแลของ ศธ. จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ โดยสถานศึกษาจะกำหนดลักษณะทรงผม ตามความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา
2.สถานศึกษาในสังกัด ศธ.และสถานศึกษาในกำกับดูแลของ ศธ.อาจดำเนินการกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับไว้ทรงผมได้ โดยวางระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษา และควรระบุอำนาจของกฏหมายเฉพาะมาตรา 39 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 และได้มีการรับฟังคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น นักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการผู้ปกครอง หรือ บุคคลอื่นที่เป็นหัวหน้าสถานศึกษาเห็นสมควร และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา
“ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีข้อต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผมว่า นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาว ไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย และมีข้อต้องห้ามปฏิบัติตน ดังนี้ ดัดผม ย้อมสีผมให้ผิดไปจากเดิม ไว้หนวดหรือเครา การกระทำอื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพการเป็นนักเรียน เช่น การตัดแต่งทรงผมเป็นรูปทรงสัญลักษณ์หรือเป็นลวดลาย แต่ต่อไปหลังจากมีการประกาศยกเลิกในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียนทั้งหมดจะอยู่ที่สถานศึกษา ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย” นางสาวตรีนุช กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนการประกาศใช้ ควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนไว้ในระบบสารสนเทศ หรือบริเวณของสถานศึกษา และดำเนินการแจ้งให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสถานศึกษาทราบเป็นการทั่วไป เพื่อให้การปฏิบัติตนของนักเรียนมีความถูกต้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดความชัดเจนในการดำเนินการของสถานศึกษา