ดร.เอ้” เสนอนโยบาย “Bangkok Low Emission Zone” ประกาศ “กำหนดเขตมลพิษต่ำ” ลดควันดำกรุงเทพชั้นใน
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ “Bangkok Low Emission Zone” ประกาศ “กำหนดเขตมลพิษต่ำ” ลดควันดำกรุงเทพชั้นใน ได้อากาศสะอาดคืนมา โดยระบุว่า นี่คือ "เป้าหมาย" และ "วิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม" ที่เราต้องทำทันที รอไม่ได้ เพราะกรุงเทพมีความหนาแน่นขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นตาม ปัญหาการจราจรติดขัด และ มลพิษทางอากาศก็ตามมา โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของพลเมือง
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า 1 ในวิธีของเมืองที่สู้จนชนะสงครามกับฝุ่นพิษ คือการเน้นควบคุมต้นกำเนิดของ PM 2.5 ด้วยการ “การกำหนดพื้นที่เขตมลพิษต่ำ” หรือ Low Emission Zone (LEZ) ซึ่งเมืองต้นแบบที่นำวิธีการนี้มาใช้ จนประสบความสำเร็จ และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม คือ “กรุงลอนดอน” ประเทศอังกฤษ โดยในวันนี้ประสบความสำเร็จในการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่เหตุการณ์ วิกฤตหมอกควัน จนกลายเป็นเมืองที่อากาศสะอาดกว่ากรุงเทพไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายวิธีตั้งแต่การกำหนดอัตราค่าธรรมตามปริมาณมลพิษรถที่ปล่อยออกมา เมื่อผ่านเขตที่กำหนด รถปล่อยมลพิษสูง ค่าธรรมเนียมยิ่งแพง ส่วนรถที่ปล่อยมลพิษตามมาตรฐาน รถยนต์ไฟฟ้าพลังสะอาด จะไม่มีค่าธรรมเนียม เข้าได้ฟรี เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาดูแลรักษารถยนต์ให้มีมาตรฐาน ปล่อยมลพิษน้อยลง ใช้รถพลังงานสะอาดมากขึ้น หรือหันมาเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน รวมไปถึงการควบคุมการก่อสร้างด้วยการให้ประโยชน์ทางภาษีแก่โครงการก่อสร้างที่ป้องกันฝุ่น หรือ "ทำดีต้องได้ดี ทำไม่ดีก็ต้องถูกปรับ"
สำหรับกรุงเทพมหานคร ศ.ดร.สุชัชวีร์ จึงเสนอให้มีการกำหนดเขตมลพิษต่ำ “Bangkok Low Emission Zone” หรือ “B-LEZ” (บีเลส) นำร่อง 16 เขตกรุงเทพชั้นใน บริเวณเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน สาทร บางรัก บางคอแหลม บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี และเขตยานนาวา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง โดยเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้ชาวกรุงเทพฯ ได้รับอากาศสะอาดกลับคืนมาได้
สาเหตุของการที่จะต้องเป็น 16 เขต กรุงเทพชั้นใน เนื่องจาก
1. เขตชั้นใน มีประชากรอาศัยหนาแน่น ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้มาทำงาน และนักเรียน ที่มีโรงเรียนและโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่มากที่สุด จึงได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างมาก
2. เป็นพื้นที่ที่มีการก่อสร้างมากที่สุด มีปัญหามากที่สุดและส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อคนกรุงเทพฯ
3. เป็นพื้นที่อยู่ในแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่พร้อมที่สุด ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากกว่าพื้นที่อื่น
“เมื่อ PM2.5 คือ อันตรายตายจริง! และขอย้ำ "ปล่อยฝุ่นว่าโหดร้าย ปล่อยไว้โหดยิ่งกว่า" หากเป็นเช่นนี้ต่อไป แสดงว่าเราไม่ได้ห่วงลูกหลานเลย จริงไหมครับ?” ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าว