ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
พิมาย โคราชชาวบ้านกว่า200คนรวมตัวกันเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับประธานกองทุนฌาปนกิจศพญาติผู้เสียชีวิตไม่ได้เงินชดเชยตามที่ตกลงกันไว้
13 ก.พ. 2566

บ่ายวันที่ 12 ก.พ.66 พ.ต.ท.สุนันท์ เจริญจิตร สารวัตรใหญ่ สภ.กระชอน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ได้รับแจ้งจาก นายอภิรักษ์  ดีแก้ว กำนันตำบลดงใหญ่  ว่าจะมีชาวบ้านใน ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กว่า200 คนจะรวมตัวกันมาที่สภ.กระชอน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับนายประคอง  พูนแก้ว อายุ 74 ปี บ้านเลขที่ 283 หมู่ 10 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ประธานกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุตำบลดงใหญ่ และกรรมการกองทุนฯอีก 2 คน คือนางสุนันท์  พันธุ์สวัสดิ์ อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 99/1 หมู่ 5 ต.ดงใหญ่อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และนายนิยม เพ็ญชอบ อายุ 71 ปี บ้านเลขที่ 79 หมู่ 7 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา  ที่บริหารจัดการเงินเรื่องเงินชดเชยให้กับญาติผู้เสียชีวิตไม่โปร่งใสและไม่ได้เงินชดเชยตามที่ตกลงกันไว้ จึงร่วมกับร.ต.อ. สมคิด ไม้สูงเนิน สว.(สอบสวน) สภ.กระชอน รอให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านที่เดินทางมาที่สภ.กระชอน

       ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญผู้ที่ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน และผู้นำหมู่บ้านประกอบไปด้วยกำนันตำบลดงใหญ่  ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวบ้านเข้าไปคุยถึงสาเหตุในห้องทำงานของสารวัตรใหญ่ โดยนายอภิรักษ์ ดีแก้ว กำนันตำบลดงใหญ่ เล่าว่า ชาวบ้านในตำบลดงใหญ่ทั้ง 20 หมู่บ้านกว่า1พันคนได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนฌาปนกิจชมรมผู้สูงอายุตำบลดงใหญ่ มาหลายปีแล้ว บางคนเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนฯเมื่อพ.ศ. 2536 บางคนก็ทำให้กับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพื่อหวังจะได้เงินค่าปลงศพหรือเงินชดเชยเมื่อเสียชีวิตไป โดยจากเดิมสมาชิกแต่ละคนจะต้องเสียค่าสมัครแรกเข้าคนละ 50 บาทและจะต้องจ่ายเงินให้กับกองทุนเพื่อนำไปจ่ายให้กับให้กับญาติสมาชิกที่เสียชีวิตศพละ 20 บาท โดยในแต่ละเดือนจะต้องจ่าย 2 ครั้ง คือทุกวันที่ 15 และ 30 ของทุกเดือน ครั้งละ 100 บาทในหนึ่งเดือนจะต้องจ่าย 200 บาท หรือเท่ากับค่าทำศพผู้เสียชีวิต 10 ราย ถึงแม้ในแต่ละเดือนจะมีสมาชิกเสียชีวิตกี่รายก็ตาม โดยจะมีตัวแทนของหมู่บ้านมาเก็บเงินกับสมาชิกเป็นประจำและนำเงินที่เก็บได้ไปส่งให้กับประธานและกรรมการกองทุนฯ และทางกรรมการก็จะนำไปมอบให้กับญาติผู้เสียชีวิตรายละ 45,000 บาท ตามข้อตกลงที่ให้ไว้ ซึ่งก็เป็นที่พอใจของสมาชิกทุกคนเพราะจะได้มีเงินมาใช้จ่ายในการจัดงานศพ   ต่อมาเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการกองทุนเริ่มไม่จ่ายเงินตามที่ตกลงไว้ บางรายได้ค่าชดเชยเพียง สองหมื่น , หนึ่งหมื่น น้อยสุดคือห้าพันบาทและยังค้างจ่ายอีก 8 ราย ล่าสุดได้ยินมาว่าทางคณะกรรมการจะยุบกองทุนทั้งหมดเพราะไม่มีเงินจ่ายให้สมาชิก  ทำให้สมาชิกทั้งหมดไม่พอใจเพราะสมัครเป็นสมาชิกมานานบางคนส่งมาเป็นหลักแสน หลักหมื่น จะมายุบกองทุนแบบนี้ไม่ได้จึงได้รวมตัวกันมาขอความช่วยเหลือจากหน้าที่ตำรวจให้ช่วยเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับสมาชิกไม่ให้เสียเงินฟรี

       ทางด้านนายประคอง  พูนแก้ว อายุ 74 ปี ประธานกองทุนฯเล่าว่าตนและกรรมการชุดนี้ได้มารับช่วงต่อจากกรรมการชุดเดิมตั้งแต่ พ.ศ.2544  ก่อนหน้านี้มีสมาชิกทั้งหมด 1,575 คน โดยในแต่ละเดือนสมาชิกจะต้องจ่ายเดือนละ200 บาท เพื่อเป็นค่าปลงศพให้กับสมาชิกที่เสียชีวิตรายละ 20 บาท คือจะเฉลี่ยว่าเดือนละ 10 ศพ ถ้าเดือนไหนผู้เสียชีวิตไม่ถึง 10 รายก็จะนำเงินที่เหลือไปฝากธนาคารเข้าบัญชีกองทุนซึ่งทำแบบนี้เรื่อยมา  ต่อมามีสมาชิกเสียชีวิตมากขึ้นเกินกว่าเดือนละ 10 รายทำให้ต้องไปถอนเงินในบัญชีออกมาจ่ายให้กับสมาชิก จนเงินในบัญชีหมดและเก็บกับสมาชิกได้ไม่ครบตามจำนวนทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยให้กับสมาชิกได้ตามข้อตกลงที่ว่ากันไว้ จนทำให้สมาชิกลาออกจนเหลือแค่ 390 คน และก็พากันรวมตัวกันมาที่โรงพัก

       จากการสอบถามนายยนต์ เตาสูงเนิน อายุ 75 ปี บ้านเลขที่ 64/2 หมู่ 1 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นคราชสีมา ตัวแทนชาวบ้านเล่าว่าสมาชิกส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไร่ชาวนาไม่ได้มีเงินมากมายก็หวังจะได้เงินไว้ให้ลูกหลานทำศพให้เมื่อเสียชีวิตก็ยอมที่จะจ่ายเดือนละ 200 บาท แล้วอยู่ๆทางคณะกรรมการจะมาบอกว่าขาดทุนไม่มีเงินจ่ายให้กับสมาชิกได้ยังไง จึงอยากจะให้ทางคณะกรรมการชี้แจงบัญชีรายรับรายจ่ายตั้งแต่ทำมาว่าเงินหายไปไหนหมดทั้งๆที่เมื่อก่อนมีเงินในบัญชีกองทุนหลายแสนบาทและก็เก็บกับสมาชิกได้ทุกเดือน  และให้รับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยหรือค่าเยียวยาให้กับสมาชิกที่เหลืออยู่ทั้งหมด ไม่ใช่จะยุบกองทุนหายไปเฉยๆไม่ได้เป็นการเอาเปรียบกันมากเกินไปเพราะทุกคนก็หาเช้ากินค่ำเหมือนกัน

          ส่วนนางนวม  มีโค อายุ 72 ปี บ้านเลขที่ 91 หมู่ 13 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา หนึ่งในชาวบ้านที่เสียหายเล่าว่า อยากรู้ว่าเงินที่เก็บไปในแต่ละเดือนเอาไปไว้ไหนหมด ญาติของตนที่เสียชีวิตก็ได้เงินแค่ 5 พัน ทั้งที่บอกจะจ่ายให้ 42,000 บาท แล้วแบบนี้จะมายุบกองทุนได้ยังไง อยากให้กรรมการออกมาชี้แจงรายละเอียดให้สามชิกทราบ

       ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและกำนัน ผู้นำหมู่บ้าน จึงร่วมกันหาข้อยุติให้กับทั้งหมดว่า ให้ประธานและคณะกรรมการกองทุนรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยให้กับญาติผู้เสียชีวิตที่ค้างจ่ายอยู่ 8 ราย โดยเบื้องต้นจ่ายรายละ 5พันบาท  และให้ไปตรวจสอบว่าสมาชิกที่ยังเหลืออยู่มีทั้งหมดกี่คนและจะเยียวยาหรือจ่ายเงินคืนให้กับสมาชิกได้คนละเท่าไหร่ และให้ชี้แจงบัญชีต่างๆให้กับสมาชิกทราบภายในวันที่ 17 ก.พ.66 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการแจ้งความหรือตั้งข้อหาใดๆ  แต่ให้ทางคณะกรรมทั้ง 3 คนทำตามข้อเสนอที่ให้ไว้  โดยคณะกรรมการยอมทำตามข้อเสนอ และชาวบ้านก็พอใจในระดับหนึ่งและแยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...