รฟม.แจงคืบหน้าปมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เผยล่าสุดตุลาการเคาะยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ย้ำชัดรอคำพิพากษาศาลสูงสุด ก่อนลงนามสัญญา ‘บีอีเอ็ม’ พร้อมระบุผลการเจรจารัฐได้ผลประโยชน์เพิ่มจากเดิมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุว่า ตามที่ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้มีการอภิปราย เกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น รฟม.ขอชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในมาตรา 35 ถึงมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
โดยปัจจุบันขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนตามาตรา 41 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในขั้นตอนต่อไป รฟม.ยืนยันว่าจะรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นผู้ฟ้องคดี มาประกอบเรื่องเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน
ขณะที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อพิพาทในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ประเด็นการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งแรกนั้น BTSC ได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 โดยล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 16 ก.พ. 2566 ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงสรุปว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เนื่องจากเหตุผลโดยสรุปดังนี้
1. คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
2. การใช้ดุลพินิจยกเลิกการคัดเลือก เป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเพื่อให้โครงการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ตามกรอบระยะเวลา อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนในการจัดทำบริการสาธารณะแล้ว
ดังนั้น เมื่อการยกเลิกการคัดเลือกชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ตุลาการผู้แถลงคดีจึงเห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยเห็นควรให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา
ขณะที่ประเด็นความชอบในการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 สืบเนื่องจากที่ BTSC ได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ดำเนินการแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าวไม่จำต้องรับฟังความเห็นของเอกชนใหม่ และไม่ทำให้ BTSC ได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการละเมิดต่อ BTSC แต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา
นอกจากนี้ รฟม.ขอยืนยันเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในคดีหมายเลขดำที่ อท30/2564 โดยศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอ ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และกรณีที่มีการยกเลิกการคัดเลือกเอกชน ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
ส่วนประเด็นการกีดกัน BTSC ไม่ให้เข้าร่วมการประมูลการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ตามที่ BTSC ได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1646/2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 8 ส.ค. 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามที่ BTSC ร้องขอ
ในส่วนของประเด็นการพิจารณาคุณสมบัติของ ITD Group รฟม.ยืนยันว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับการพิจารณาคุณสมบัติไว้ว่า เมื่อได้ผู้ผ่านการคัดเลือกแล้ว หากพบว่ามีข้อสงสัยในประเด็นลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 จะสอบถามไปยังคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก่อนการประกาศรายชื่อผู้ชนะการคัดเลือกต่อไป ทั้งนี้เมื่อ ITD Group ไม่ได้เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกฯ จึงไม่ต้องดำเนินการใดๆ
นอกจากนี้ ประเด็นส่วนต่างของข้อเสนอ 68,613 ล้านบาท ของข้อเสนอ BTSC รฟม.ขอยืนยันว่า แม้ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของ BTSC ตามที่เป็นข่าวนั้น จะมีมูลค่าการให้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ค่อนข้างสูง แต่ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน จะต้องมีการประเมินซองข้อเสนออื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประเมินซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และซองข้อเสนอด้านเทคนิค รวมถึงความน่าเชื่อถือของข้อเสนอทางการเงิน
ดังนั้น แม้บริษัทฯ จะนำข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อปี 2563 มาแสดง แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถนำตัวเลขมาเปรียบเทียบผลการยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนปัจจุบันได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิคของบริษัทฯ จะผ่านเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่ รวมทั้งข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนมีความเป็นไปได้ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือเพียงใด จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าข้อเสนอของ BTSC จะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐจริง
ทั้งนี้ รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการได้ดำเนินการโดยใช้สมมุติฐานทางการเงินตาม MRT Assessment Standardization ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับทุกโครงการที่ รฟม. ดำเนินการมา มิได้เป็นการอุปโลกน์ข้อมูลขึ้นมาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในขั้นตอนการเจรจาต่อรองของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุด ซึ่งทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นจากเดิมมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท