ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
เรื่องที่ต้องเปิดเผย
17 ก.พ. 2566

#CSRcontent โดย มนวิภา จูภิบาล กรรมการบริษัท วีอาร์ทวินส์ จำกัด

เรื่องที่ต้องเปิดเผย

องค์กร 18,606 แห่งทั่วโลกเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2022 ต่อ CDP แพลทฟอร์มด้านการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก (CDP: environmental disclosure platform ) ในหมวดสภาพภูมิอากาศโดยจํานวนองค์กรที่รายงานต่อ CDP เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 40% จากปีก่อนหน้า  CDP ใช้ระบบการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกซึ่งช่วยให้นักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ สามารถวัดและติดตามผลการดําเนินงานขององค์กรในด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สําคัญ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทําลายป่าและความมั่นคงด้านน้ํา

CDP รายงานว่ามีเพียง 81 องค์กร หรือ  0.4%  เท่านั้นที่เปิดเผยข้อมูลตามตัวชี้วัดหลัก 21 ตัวที่แสดงถึงแผนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าเชื่อถือ ส่วนการเปลี่ยนไปสู่วิถีที่สอดคล้องกับ 1.5 ° C   ตามข้อตกลงปารีส ( Paris Agreement ) ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้นดูเป็นเรื่องยาก     อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ส่งสัญญาณที่น่ายินดีว่า กว่า 30% ขององค์กรที่เปิดเผยทั้งหมดรายงานว่า พวกเขาตั้งใจที่จะพัฒนาแผนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับ 1.5 องศาเซลเซียสในอีกสองปีข้างหน้า  องค์กรในประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยข้อมูลกับ CDP สูงสุด 3,718 องค์กร โดยมี 5 องค์กรที่เปิดเผยตามตัวชี้วัดหลักครบ 21 ตัว ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 31 จาก 135 ประเทศ มีองค์กรที่เปิดเผยข้อมูล 97 องค์กร และมี 2 องค์กรที่เปิดเผยข้อมูลตามตัวชี้วัดหลักครบ 21 ตัว

CDP ก่อตั้งขึ้นในปี 2000 เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกําไรที่จัดทำระบบการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรทั่วโลก  ทํางานร่วมกับสถาบันการเงินมากกว่า 680 แห่งที่มีสินทรัพย์มากกว่า 130 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นผู้บุกเบิกการใช้ตลาดทุน และการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร เพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่างๆเปิดเผยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  CDP มีฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับ TCFD  (Task Force on Climate-related Financial Disclosures)  ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

TCFD เป็นคณะทํางานเฉพาะกิจด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ   ก่อตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงิน  (The Financial Stability Board) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่พยายามเสริมสร้างและปกป้องตลาดการเงินโลกจากความเสี่ยง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ให้คําแนะนําแก่ผู้เข้าสู่ตลาดทุนเพื่อใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุน และทำให้ภาคธุรกิจทั่วโลกได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการนำหลักการเปิดเผยข้อมูลไปปฏิบัติโดยสมัครใจ  

ในปี 2020 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการ   TCFD เผยแพร่แนวปฏิบัติครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ปี 2017 ประกอบด้วย  Governance การเปิดเผยข้อมูลการกำกับดูแลขององค์กรในการประเมินและจัดการความเสี่ยงและโอกาสเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยกรรมการและผู้บริหารของบริษัท   Strategy การเปิดเผยกลยุทธ์ การวางแผนทางการเงิน และแนวทางในการรับมือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ    Risk Management การประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร   และ Metrics and Targets การกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมาย   

การดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ และได้ประโยชน์กับองค์กรแท้จริงนั้น นอกจากกรรมการและฝ่ายบริหารที่เข้าใจและเชื่อในความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ต้องคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีแล้ว   ยังต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจใน เรื่อง ESG : Environment, Social, Governance) และสามารถนำ ESG ไปผนวกกับกลยุทธ์องค์กรหรือกลยุทธ์ธุรกิจได้  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ได้กล่าวในงานสัมมนา “SET ESG Professionals Forum” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 ว่า “ บุคคลที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและพัฒนาความยั่งยืนขององค์กรต้องมีความรู้ความสามารถทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก หน้าที่ของ ESG Professionals  จึงมีความแตกต่างไปจากเดิมมาก จากคนทำงานที่อยู่ในวงนอกของธุรกิจหลัก มุ่งเน้นการทำโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ในวันนี้กลายเป็นคนสำคัญที่ทำหน้าที่สนับสนุนการทำแผนยุทธศาสตร์องค์กร เอื้ออำนวยให้เกิดการผนวก ESG ในทุกหน่วยธุรกิจ”

จากเดิมคนทำงานด้าน CSR มักจะทำร่วมกับสายงาน PR เพราะมีความสัมพันธ์กับการส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร  ต่อมาพัฒนาไปเป็นงานด้าน SD: Social Development ซึ่งมีบทบาทมากขึ้นในเชิงกลยุทธ์ และ ปัจจุบันสามารถเปลี่ยนไปทำงานด้าน ESG  ที่ต้องบูรณาการองค์ความรู้ และประสบการณ์ ทั้งภาคทฤษฎี ปฏิบัติ และการนำไปใช้กับธุรกิจเพื่อให้เกิดผลกำไรด้วย

“We are the last generation that can prevent irreparable damage to our planet.”

 Maria Fernanda Espinosa Garces, President of UN General Assembly

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...