เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การยกเว้นให้คนโดยสารไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยในรถบางประเภท พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
สำหรับสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ การยกเว้นให้คนโดยสารไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยในรถบางประเภท พ.ศ. 2566 สำหรับรถนั่งสองแถว รถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถ รถกระบะ และรถกึ่งกระบะ (Space Cab) โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ทั้งนี้ สำหรับรถที่ได้รับการยกเว้น จะต้องบรรทุกคนโดยสารตามที่กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกระบุไว้สำหรับรถประเภทนั้น เช่น รถกระบะ และรถกึ่งกระบะ บรรทุกคนโดยสารในตอนท้ายกระบะได้ไม่เกิน 6 คน หรือ รถกึ่งกระบะ บรรทุกคนโดยสารในตอนพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลังที่นั่งคนขับ (Space Cab) ได้ไม่เกิน 3 คน
รวมถึงการโดยสารต้องไม่มีการยืนหรือนั่งโดยสารในลักษณะที่เป็นการเสี่ยงภัย เช่น ห้ามนั่งโดยสารเกินจำนวนที่นั่ง ห้ามยืนโดยสารไม่ว่าตอนใดของรถ ไม่ยื่นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถในขณะนั่งโดยสาร ห้ามนั่งริมขอบกระบะ ห้ามนั่งซ้อนผู้โดยสารอื่น หรือนั่งบนสิ่งของที่บรรทุกในรถ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่บังคับเกี่ยวกับความเร็วในการขับรถด้วย โดยในขณะที่มีการบรรทุกคนโดยสาร ผู้ขับขี่ต้องใช้อัตราความเร็ว ดังต่อไปนี้
1.รถนั่งสองแถว ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
2.รถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
3.รถกระบะและรถกึ่งกระบะ กรณีที่มีผู้โดยสารนั่งท้ายกระบะ ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้าย เว้นแต่ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร หรือจะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก หรือเมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรถที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยกเว้นไม่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เนื่องจากรถไม่ได้มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยตั้งแต่แรก หรือไม่อาจติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในพื้นที่ตอนหลังได้ เช่น รถปิกอัพ รถกึ่งกระบะ (Space Cab) ซึ่งมีการใช้กันมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด โดยการออกกฎหมายก่อนหน้านี้ให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่งไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ
ขณะที่รถสองแถวโดยสารที่ดัดแปลงมาจากรถปิกอัพ (4ล้อ) ที่ใช้รับส่งผู้โดยสารทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด หรือรถสองแถวใหญ่เช่นรถ 6 ล้อ ที่ใช้รับส่งคนงานตามแคมป์ก่อสร้าง หรือในต่างจังหวัดก็ใช้รับส่งนักเรียนในพื้นที่ชนบทกันมาก และบรรทุกกันจำนวนมาก ในทางปฏิบัติเมื่อโดยสาร ผู้โดยสารก็ไม่สามารถรัดเข็มขัดนิรภัยได้