ผอ.ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน เผย กรณีฝรั่งเล่นห่วงยาง ได้มีการจัดระเบียบและเข้าไปดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด พร้อมเตรียมจัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อน ภายใต้ “โครงการแม่ฮ่องสอน ผ่อนคลาย”
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าที่ร้อยตรี ภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผอ.ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้บริการห่วงยางให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวน 5 ราย โดยมีการให้บริการให้กับนักท่องเที่ยว ในราคารายละ 200-400 บาทแล้วแต่แพคเกจที่เสริมเข้าไป
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีการจัดการ์ดให้การดูแลนักท่องเที่ยว จำนวน 1 คนต่อนักท่องเที่ยว 10 คน ซึ่งในแต่ละรอบของการล่องห่วงยาง แต่ละรายจะให้บริการนักท่องเที่ยว คราวละประมาณ 100 คนต่อเที่ยว ซึ่งเมื่อมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าไปใช้บริการเมื่อรวมกันจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเยอะมาก หลายร้อยคนต่อรอบ ทำให้มีการถ่ายคลิปไปเผยแพร่ในสื่อโซเชียลจนโด่งดัง
เนื่องจากที่ผ่านมา กิจกรรมล่องห่วงยางแม่น้ำปาย ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทาง ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว และผู้ประสานงาน จึงได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน ในรูปแบบสร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและสมดุลของมิติทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
เน้นการสร้างประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าให้แก่นักท่องเที่ยว สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงธุรกิจและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว รวมทั้งให้สังคมยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและมีความสุขร่วมกัน ตลอดจนเน้นการดูแลรักษา ฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติ ให้คงอยู่สืบไป
ผอ.ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอนยังกล่าวว่า สำหรับในช่วงฤดูร้อน ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวปาย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐ-ภาคเอกชน ในการเตรียมปรับแผนงานส่งเสริมการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ตาม Theme 365 วันมหัศจรรย์เมืองไทย
โดย ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน ร่วมกับภาคีเครือข่ายตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดจัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อน ภายใต้ “โครงการแม่ฮ่องสอน ผ่อนคลาย” ซึ่งนำจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมาเป็นจุดขาย ผนวกกับ Food (อาหารท้องถิ่น) และ Festival (กิจกรรม เทศกาล งานประเพณี) ดึงจุดแข็งให้เป็นจุดขาย ประกอบด้วย การท่องเที่ยวในเชิงอาหารซึ่งมีความหลากหลายของอาหารท้องถิ่น และชาติพันธุ์ รวมทั้งอาหารจากนานาชาติที่แทบจะมีครบในอำเภอปาย
รวมทั้งสถานประกอบการด้านสุขภาพและความงาม เช่น สปา ประกอบกับการนำจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ในเชิงวัฒนธรรม เช่น งานประเพณีปีใหม่ของชาติพันธุ์ที่นิยมจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม รวมทั้งงานประเพณีปอยส่างลองหนึ่งเดียวในโลก
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่สนับสนุน ได้แก่ งานประเพณีแห่และสรงน้ำพระของอำเภอปายที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายน 2566 นี้ และยังมีกิจกรรมที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น งานวันไหลสงกรานต์ที่จะจัดขึ้นครั้งแรกในอำเภอปาย วันที่ 20-21 เมษายน 2566
ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรมล่องห่วงยางแม่น้ำปาย กิจกรรมจัดโซนนิ่งถนนคนเล่นน้ำ อุโมงค์น้ำ การจำหน่ายอาหารพื้นเมืองสินค้าของที่ระลึกพื้นเมือง เชื่อมโยงกับกิจกรรมถนนคนเดิน ซึ่งจะทำให้สามารถดึงให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยว และมีระยะเวลาพำนักในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น สร้างโอกาสในการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนต่างๆ ลดความเหลื่อมล้ำ และลดปัญหาการว่างงานหรือย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองหลัก ตามนโยบายของรัฐบาล
โดยกำหนดพื้นที่อำเภอปายเป็น Hub ของการท่องเที่ยว และกระจายตัวไปตามพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทั้งน้ำตก น้ำพุร้อน บ่อน้ำแร่ จุดชมวิว และมีกิจกรรมมากมาย ซึ่งจะตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital nomad และกลุ่มทำงานแบบ Workation หรือกลุ่มทำงานแบบ Hybrid เข้ามาท่องเที่ยวพร้อมทำงานอยู่ในพื้นที่อำเภอปายมากขึ้น และมีระยะการพำนักยาวนานมากขึ้น