น.ส.พ.ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จ.จันทบุรี กล่าวว่า สถานการณ์เฝ้าระวังไข้หวัดนกเป็นมาตรการของกรมปศุสัตว์ ที่ให้เฝ้าระวังในฟาร์มทุกแห่งในจันทบุรีซึ่งมีฟาร์มไก่เนื้อประมาณ 100 แห่ง มีทั้งมาตรฐาน GAP และ GFM ส่วนฟาร์มไก่ไข่ขนาดใหญ่มีเพียงแห่งเดียวที่.อ.โป่งน้ำร้อน มีมาตรฐานของบริษัทใหญ่ CP ควบคุมอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์มีทั้งมาตรการเชิงรับที่ออกตรวจทุกเดือน และมาตรการเชิงรุกที่สุ่มตัวอย่างไปตรวจ โดยมีกฎหมายลงโทษที่รุนแรงและเจ้าของฟาร์มจะได้รับความเสียหายมาก ทำให้ได้รับความร่วมมืออย่างดี แต่ในช่วงที่พบเชื้อไข้หวัดนกในกัมพูชา
แม้ว่าตามกฎหมายจะห้ามการนำเข้าก็ได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และแน่ใจว่ามาตรการคุมเข้มในการส่งออกลูกไก่ออกไปให้กัมพูชาเพื่อเลี้ยงในฟาร์มในกัมพูชามีความปลอดภัยสูง
“ทางฝั่งกัมพูชาทางด่านบ้านแหลมมีการส่งออกลูกไก่ไปเลี้ยงในโรงเรือนกัมพูชา เนื่องจากกัมพูชายังไม่มีโรงฟัก เพาะเลี้ยงลูกไก่ ทางจันทบุรีจะดูความปลอดภัยเมื่อรถส่งพันธุ์ลูกไก่ถ่ายใส่รถฝั่งกัมพูชาเสร็จแล้วกลับเข้ามาต้องพ่นฆ่าเชื้อในรถบรรทุก ภาชนะที่ใส่และพนักงานที่ขับไปส่ง ซึ่งไก่เนื้อที่เลี้ยงจะส่งไปเลี้ยงโตแล้วจำหน่ายในตลาดกัมพูชาไม่ได้ส่งเข้ามาไทย แต่ทางเจ้าหน้าที่ไทยยังมีการตรวจเข้มเฝ้าระวังร่วมกับหน่วยงานชายแดนทุกหน่วย” ปศุสัตว์จ.จันทบุรีกล่าว
นายลือชา จามสิกุล หัวหน้าด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศพรมแดนบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ด่านบ้านแหลมเขตติดต่อกับ จ.พระตะบอง สอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชายแดนของกัมพูชา ได้ติดตามเผ้าระวังไข้หวัดนกตามข่าว
แต่การสั่งการเป็นพิเศษยังไม่มีทั้งของเราและกัมพูชา ตามนโยบายของการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดของกรมปศุสัตว์มีอยู่แล้ว
นอกจากนี้ได้สร้างเครือข่ายฝ่ายไทยและกัมพูชา ประสานร่วมมือกันเผ้าระวัง ประเมนความเสี่ยง กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกัมพูชา ไทยมีหลายหน่วยร่วมกัน คือ ปศุสัตว์ สาธารณสุข ตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร ด่านกักกันสัตว์และพืชและตลาดชายแดนของเอกชน เคยรับมือมาแล้ว 2-3 ครั้ง และจากการประเมินความเสี่ยง จ.พระตะบองยังอยู่ห่างไกลจาก จ.เปรยแวงมากส่วนใหญ่คนที่เข้า-ออกจาก จ.พระตะบอง แต่อย่างไรก็ตามทางกัมพูชาจะประสานมาหากพบผู้มีความเสี่ยง จะต้องซักประวัติและคัดกรองเป็นพิเศษ