ปตท.เล็งเจรจาซื้อLNG กระจายตามแหล่งต่างๆ ในช่วงตลาดเป็นของผู้ซื้อ หวังให้ได้ปริมาณที่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานจากการเปิดเสรีก๊าซฯ หลังคาดการณ์ตลาดก๊าซฯ โลกอีก 5 ปี ปริมาณผลิตและการใช้กลับสู่สมดุล และอำนาจการตลาดจะกลับไปเป็นของผู้ขาย ดันราคาปรับสูงขึ้น ด้านบริษัทพีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อทำธุรกิจก๊าซ LNG ครบวงจร
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.คาดการณ์ทิศทางตลาดก๊าซธรรมชาติโลก ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยอำนาจทางการตลาดจะกลับไปเป็นของผู้ขาย เนื่องจากกำลังการผลิตและความต้องการใช้จะกลับมาสมดุลและทำให้ราคาปรับขึ้นได้จากปัจจุบันที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)อยู่ระดับ 6 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ดังนั้นเมื่ออำนาจทางการตลาดยังเป็นของผู้ซื้ออยู่ในปัจจุบัน ทาง ปตท.จึงเตรียมพิจารณาทำสัญญาซื้อก๊าซฯ LNG จากแหล่งต่างๆ ในลักษณะกระจายตัว แต่ไม่รีบร้อนเพื่อให้ได้ราคาดีที่สุด
ทั้งนี้ปตท.มีความเป็นห่วงกรณีการเปิดเสรีก๊าซฯของประเทศ ซึ่งอาจเกิดปัญหาความมั่นคงด้านการนำเข้า LNG เพราะในระยะแรกจะเกิดผู้นำเข้าหลายราย แต่หากธุรกิจไม่ได้กำไรผู้ประกอบการอาจหยุดนำเข้า จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้ ซึ่งภาครัฐอาจต้องพิจารณาว่าใครจะเป็นผู้ดูแลความมั่นคงการนำเข้าที่จะเกิดขึ้น
นายวิรัตน์ กล่าวว่าปตท.ในฐานะบริษัทน้ำมันแห่งชาติ จะเตรียมรองรับปัญหาดังกล่าวด้วยการลงทุนหรือซื้อก๊าซ LNG กระจายในแหล่งต่างๆ และให้มีปริมาณ LNG มากพอสมควรที่จะสามารถบริหารจัดการรองรับความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ตามหากภาครัฐกำหนดให้มีการสำรอง LNG ตามกฎหมายก็จะมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นคงขึ้นได้
นายวิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับปี 2560 นี้ คาดว่าความต้องการใช้ LNG ของประเทศจะไม่ถึง 5 ล้านตันตามที่คาดไว้ โดยน่าจะอยู่ระดับ 3-4 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ของประเทศไม่สูงเท่าที่คาดการณ์ ทำให้ความต้องการใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าน้อยลงไปด้วย ขณะที่การลงทุนสร้างคลัง LNG ของปตท.ปัจจุบันเตรียมรองรับ LNG ขนาดรวม 19 ล้านตัน แบ่งเป็นTerminal 1 รวม 11.5 ล้านตันและTerminal 2 รวม 7.5 ล้านตัน ซึ่งถือว่าไม่มากเกินไป เพราะเป็นไปตามการคาดการณ์ปริมาณการใช้ในอนาคตของกระทรวงพลังงาน แต่จะขยายคลังเพิ่มอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ความต้องการใช้ LNG ในระยะยาวของกระทรวงพลังงาน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ พีดีพี 2015